นอกจากนี้ ความพยายามในการเจรจาข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ระหว่างชาติตะวันตกและอิหร่านก็ได้กดดันตลาดเช่นกัน โดยคาดว่า หากที่ประชุมสามารถบรรลุข้อตกลง จะส่งผลให้อิหร่านสามารถส่งออกน้ำมันสู่ตลาด ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะน้ำมันล้นตลาดมากขึ้น
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนเม.ย.ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX รูดลง 65 เซนต์ แตะ 43.31 ดอลลาร์/บาร์เรลในวันนี้ โดยสัญญาดังกล่าวจะครบกำหนดส่งมอบในวันนี้
นักวิเคราะห์จากแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ (BAML) ระบุว่า ราคาน้ำมันไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวขึ้นในระยะใกล้
BAML ยังคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 52 ดอลลาร์ในปีนี้ และ 58 ดอลลาร์ในปีหน้า
"ปัจจัยการแข็งค่าของดอลลาร์, การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และการร่วงลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ไม่มีแนวโน้มที่จะเลือนหายไปในเร็วๆนี้ ขณะที่คาดว่าอุปสงค์ของน้ำมันโลกจะยังคงอ่อนแอ" BAML ระบุ
ทางด้านนายอาลี อัล-โอแมร์ รมว.น้ำมันคูเวต กล่าวว่า คูเวตจะยังคงผลิตน้ำมันตามโควต้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเขาไม่เห็นเหตุผลที่กลุ่มโอเปก จะต้องจัดการประชุมฉุกเฉิน แม้ว่าราคาน้ำมันกำลังทรุดตัวลงก็ตาม
เขากล่าวว่า ไม่มีเหตุผลที่โอเปกจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ ก่อนที่จะมีการประชุมตามปกติในเดือนมิ.ย.
นายอัล-โอแมร์ระบุว่า คูเวตจะมีความสุขมาก หากผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นปรับลดกำลังการผลิต แต่คูเวตจะยังคงผลิตน้ำมันตามโควต้าที่มีการตกลงในการประชุมโอเปกครั้งล่าสุดในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว
เขายังกล่าวว่า โอเปกไม่มีทางเลือก นอกจากตรึงกำลังการผลิตน้ำมันต่อไป
นายอัล-โอแมร์กล่าวว่า เขามีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่ดิ่งลงถึง 50% นับตั้งแต่ฤดูร้อนปีที่แล้ว เนื่องจากมีผลกระทบต่องบประมาณประเทศ แต่โอเปกไม่มีทางเลือก นอกจากตรึงกำลังการผลิตต่อไป
"เราไม่ต้องการสูญเสียส่วนแบ่งของเราในตลาดโลก" เขากล่าว
โอเปกตกลงคงเพดานการผลิตน้ำมันในการประชุมเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว แม้ราคาน้ำมันตกต่ำลง เนื่องจากโอเปกวิตกว่าผลผลิตน้ำมันจาก Shale Oil ของสหรัฐจะกระทบต่อส่วนแบ่งในตลาดน้ำมันโลกของโอเปก