ณ เวลา 18.44 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนต.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX เพิ่มขึ้น 27 เซนต์ หรือ 0.61% สู่ระดับ 44.44 ดอลลาร์/บาร์เรล
ราคาน้ำมันขยับขึ้นในวันนี้ แม้มีสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนและญี่ปุ่น
สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) สถาบันจัดอันดับคามน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ประกาศคงคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ที่ระดับ 6.8% แต่ปรับลดคาดการณ์สำหรับปีหน้าสู่ระดับ 6.3% จาก 6.6% และปรับลดคาดการณ์สำหรับปี 2017 สู่ระดับ 6.1% จาก 6.3%
ทางด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของจีน ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อระดับค้าส่ง ร่วงลง 5.9% เมื่อเทียบรายปี ในเดือนส.ค. ซึ่งย่ำแย่กว่าในเดือนก.ค.ที่หดตัว 5.4%
หากเทียบรายเดือน ดัชนี PPI เดือนส.ค.ปรับตัวลง 0.8%
ทั้งนี้ ดัชนี PPI ได้ร่วงลงเป็นเดือนที่ 42 ติดต่อกัน ส่งผลให้จีนมีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในภาวะเงินฝืด
รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรภาคเอกชนปรับตัวลดลง 3.6% ในเดือนก.ค.เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 8.056 แสนล้านเยน
ทั้งนี้ ยอดสั่งซื้อเครื่องจักร ซึ่งไม่รวมอุตสาหกรรมอู่ต่อเรือและสาธารณูปโภคที่มีความผันผวนสูงนั้น ถูกมองว่าเป็นเครื่องชี้วัดการใช้จ่ายในอนาคตของภาคธุรกิจ
เจ้าหน้าที่ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ระบุว่า โอเปกมีแนวโน้มปรับเพิ่มเพดานการผลิตน้ำมัน จากการที่อินโดนีเซียจะกลับเข้าร่วมกลุ่มในเดือนธ.ค.นี้
อย่างไรก็ดี โอเปกจะไม่มีการผลิตน้ำมันเพิ่มแต่อย่างใด แต่เพดานที่เพิ่มขึ้นมาจากการรวมการผลิตน้ำมัน 800,000 บาร์เรลต่อวันของอินโดนีเซียเข้าไปในเป้าหมายเดิมของโอเปกซึ่งอยู่ที่ระดับ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน
แม้โอเปกไม่มีการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่เจ้าหน้าที่โอเปกบางส่วนวิตกว่า การปรับเพิ่มตัวเลขเป้าหมายการผลิตน้ำมันของโอเปกสู่ระดับ 30.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อตลาด และจะฉุดให้ราคาดิ่งลงอีก
ก่อนหน้านี้ โอเปกส่งหนังสือไปยังอินโดนีเซีย โดยระบุว่า ทางกลุ่มได้ตอบรับคำร้องของอินโดนีเซียที่จะเข้าร่วมกลุ่มโอเปกอีกครั้งหนึ่งแล้ว
ทั้งนี้ โอเปกแจ้งว่า อินโดนีเซียสามารถเข้าร่วมการประชุมโอเปกในครั้งหน้าในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ที่กรุงเวียนนา ซึ่งจะมีการรับอินโดนีเซียเข้าร่วมกลุ่มอย่างเป็นทางการ
อินโดนีเซียเคยเป็นสมาชิกโอเปกมานาน 47 ปี จนกระทั่งขอระงับสมาชิกภาพในวันที่ 1 ม.ค.2009 หลังจากที่อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันสุทธิในช่วงต้นทศวรรษ 2000 แต่อินโดนีเซียก็ได้ยื่นคำขอกลับเข้าเป็นสมาชิกโอเปกอีกครั้งในเดือนพ.ค.ปีนี้ โดยหวังที่จะกระชับความร่วมมือกับกลุ่มโอเปก และหวังที่จะลงทุนในการตั้งโรงกลั่นน้ำมัน