ณ เวลา 18.08 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนม.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX เพิ่มขึ้น 31 เซนต์ หรือ 0.87% สู่ระดับ 36.13 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากวานนี้ดิ่งลงแตะ 33.98 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดของปี 2009
ดอลลาร์อ่อนค่าลงในวันนี้ ใกล้หลุดระดับ 121 เยน ในการซื้อขายที่ซบเซา ก่อนวันหยุดเทศกาลคริสตมาสในปลายสัปดาห์นี้
ณ เวลา 17.59 น. ดอลลาร์ปรับตัวลง 0.12% สู่ระดับ 121.07 เยน และร่วงลง 0.14% สู่ระดับ 1.0929 เทียบยูโร ขณะที่ยูโรทรงตัวที่ 132.31 เยน ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.18% สู่ระดับ 98.293
การทรุดตัวของราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา เป็นปัจจัยกดดันดอลลาร์ ส่งผลให้นักลงทุนหันไปซื้อเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันยังคงได้รับแรงกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด
เบเกอร์ ฮิวจ์ บริษัทผู้ให้บริการแก่อุตสาหกรรมน้ำมัน รายงานว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐที่มีการใช้งาน ได้เพิ่มขึ้น 17 แท่น สู่ระดับ 541 แท่นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรก หลังจากที่ลดลงต่อเนื่องมา 4 สัปดาห์
ทางด้านสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของสหรัฐ (EIA) เปิดเผยเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า สหรัฐผลิตน้ำมันดิบเพิ่ม 12,000 บาร์เรล แตะระดับ 9.176 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้นเกินคาด 4.8 ล้านบาร์เรลในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 11 ธ.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะลดลง 1.4 ล้านบาร์เรล
นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังได้รับแรงกดดันเพิ่มเติม หลังจากมีรายงานว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบามาได้ลงนามในกฎหมายเพื่อยกเลิกข้อห้ามส่งออกน้ำมันสหรัฐ ที่มีการบังคับใช้มานาน 40 ปี
โกลด์แมน แซค คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะต้องทรุดตัวลงแตะระดับ 20 ดอลลาร์/บาร์เรลเพื่อทำให้กลุ่มผู้ผลิตปรับลดกำลังการผลิต
ทั้งนี้ กล่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ยังคงไม่มีแนวโน้มปรับลดกำลังการผลิต แต่ชาติสมาชิกกลับเร่งส่งออกมากขึ้นเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ส่งผลให้ผลผลิตน้ำมันของโอเปกพุ่งขึ้นมากกว่า 31.5 ล้านบาร์เรล/วัน