สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ทรุดตัวลงต่ำกว่า 39 ดอลลาร์ในวันนี้ โดยได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และสต็อกน้ำมันดิบในสหรัฐที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์
ณ เวลา 19.09 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ลดลง 90 เซนต์ หรือ 2.26% สู่ระดับ 38.89 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นเป็นปัจจัยลบต่อราคาน้ำมัน เนื่องจากจะลดความน่าดึงดูดของสัญญาน้ำมัน โดยทำให้มีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น
ดอลลาร์ยังคงได้รับแรงหนุนให้อยู่ในกรอบบนของช่วง 112 เยน ท่ามกลางกระแสคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)
ณ เวลา 18.45 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์แข็งค่า 0.28% สู่ระดับ 112.67 เยน และดีดตัวขึ้น 0.21% สู่ระดับ 1.1160 เทียบยูโร ขณะที่ยูโรขยับขึ้น 0.06% สู่ระดับ 125.72 เยน ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.17% สู่ระดับ 96.207
ดอลลาร์แข็งค่าในการซื้อขายวันนี้ ขานรับคำกล่าวของเจ้าหน้าที่เฟดที่ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า
นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์ หลุยส์ กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะส่งผลให้เฟดพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า
คำกล่าวของประธานเฟดสาขาเซนต์ หลุยส์ สะท้อนคำพูดของนายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก และนายเดนนิส ล็อคฮาร์ท ประธานเฟดสาขาแอตแลนต้า ซึ่งส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้าเช่นกัน
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 6 แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ทั้งนี้ สต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 9.4 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สู่ระดับ 532.5 ล้านบาร์เรล สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.7 ล้านบาร์เรล
ส่วนสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 4.6 ล้านบาร์เรล
ก่อนหน้านี้ สถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน (API) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้น 8.8 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว โดยพุ่งขึ้นมากกว่าถึง 3 เท่าจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
นายนีล แอตคินสัน ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมน้ำมันและตลาดของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ระบุว่า การบรรลุข้อตกลงระหว่างกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันในการจำกัดการผลิตในการประชุมเดือนหน้า จะไม่มีความหมายแต่อย่างใด เนื่องจากซาอุดิอาระเบียเป็นเพียงประเทศเดียวที่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันได้
"การจำกัดการผลิตน้ำมันในครั้งนี้จะแทบไม่มีความหมาย โดยสิ่งนี้เป็นเพียงการแสดงออกซึ่งท่าทีในการสร้างความเชื่อมั่นว่าราคาน้ำมันจะมีเสถียรภาพ" เขากล่าว