สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ทรุดกว่า 3% หลุดระดับ 37 ดอลลาร์ในวันนี้ หลังมีการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐที่แกร่งเกินคาด ซึ่งบ่งชี้โอกาสมากขึ้นที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนยังไม่มั่นใจว่าการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันในเดือนนี้จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำมันล้นตลาด
ณ เวลา 20.20 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ร่วงลง 1.4 ดอลลาร์ หรือ 3.65% สู่ระดับ 36.94 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทางด้านราคาสัญญาอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นขณะนี้ได้ปรับตัวรับโอกาสที่มากกว่าค่าเฉลี่ยที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้บ่งชี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.
กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นมากเกินคาด โดยอยู่ที่ระดับ 215,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ขณะที่อัตราการว่างงานขยับขึ้น 0.1% แตะระดับ 5.0% หลังจากทรงตัวที่ 4.9% ในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 8 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2008
อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นในเดือนมี.ค. โดยปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เดือนพ.ค.2015
นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า การจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 205,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. และอัตราการว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 4.9%
ภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 195,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ขณะที่ภาครัฐจ้างงานเพิ่มขึ้น 20,000 ตำแหน่ง
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ทบทวนปรับลดตัวเลขการจ้างงานในเดือนม.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 168,000 ตำแหน่ง จากที่มีการรายงานก่อนหน้านี้ว่าเพิ่มขึ้น 172,000 ตำแหน่ง และทบทวนปรับเพิ่มตัวเลขการจ้างงานในเดือนก.พ. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 245,000 ตำแหน่ง จากที่มีการรายงานก่อนหน้านี้ว่าเพิ่มขึ้น 242,000 ตำแหน่ง
ขณะเดียวกัน ตัวเลขรายได้ต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ ได้เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่เมื่อเทียบรายปีเพิ่มขึ้น 2.3% เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.2% ในเดือนก.พ.
ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 63.0% ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2014 จากระดับ 62.9% ในเดือนก.พ.
นักลงทุนจับตาการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศนอกกลุ่มโอเปก ในวันที่ 17 เม.ย.นี้ ที่เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ เพื่อหารือเกี่ยวกับการจำกัดการผลิตน้ำมัน
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ระบุว่า แม้ที่ประชุมบรรลุข้อตกลงคงกำลังการผลิต แต่การตรึงกำลังการผลิตในระดับของเดือนม.ค. ซึ่งถือว่ามีการผลิตน้ำมันในระดับสูง ก็จะไม่ได้ช่วยบรรเทาภาวะน้ำมันล้นตลาด
นอกจากนี้ ลิเบียยืนยันไม่เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ ขณะที่อิหร่านยังไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจน ส่วนซาอุดิอาระเบียระบุว่า จะยอมตรึงกำลังการผลิต ก็ต่อเมื่ออิหร่านและประเทศอื่นๆยินยอมปฏิบัติตาม