สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ปรับตัวลงในวันนี้ หลังจากพุ่งขึ้นเกือบ 6% เมื่อวานนี้ โดยราคาถูกถ่วงลงจากการแข็งค่าของดอลลาร์ และการเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐที่เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
ณ เวลา 22.09 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนธ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ลดลง 37 เซนต์ หรือ 0.81% สู่ระดับ 45.44 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของน้ำมัน โดยทำให้สัญญาน้ำมันมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น
ดัชนีดอลลาร์พุ่งทะลุระดับ 100 ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2003 เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในตะกร้าเงิน ขณะที่ดอลลาร์ดีดตัวสู่กรอบกลางของ 109 เยน และพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีเมื่อเทียบยูโร จากการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้า หลังการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง
ณ เวลา 20.22 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์แข็งค่า 0.19% สู่ระดับ 109.36 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวขึ้น 0.09% สู่ระดับ 117.11 เยน และร่วงลง 0.09% สู่ระดับ 1.0710 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.27% สู่ระดับ 100.41
ทางด้านสถาบันปิโตรเลียมอเมริกัน (API) ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้น 3.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรล
กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) จะประชุมอย่างไม่เป็นทางการในวันศุกร์นี้ที่กรุงโดฮา เพื่อหารือการลดกำลังการผลิตน้ำมันที่มีการบรรลุข้อตกลงในเดือนก.ย.
ทั้งนี้ รัฐมนตรีพลังงานของกลุ่มโอเปกจะจัดการประชุมดังกล่าว ก่อนการประชุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 พ.ย.
อย่างไรก็ดี นายบิจาน ซานกาเนห์ รัฐมนตรีน้ำมันของอิหร่าน จะไม่เข้าประชุมในวันศุกร์นี้ แต่ผู้ว่าการโอเปกประจำอิหร่านจะเข้าประชุมแทน
ทั้งนี้ ในการประชุมที่กรุงอัลเจียร์ในวันที่ 28 ก.ย. โอเปกตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตสู่ระดับ 32.50-33.0 ล้านบาร์เรล/วัน โดยจะมีการสรุปโควตาของแต่ละประเทศในการประชุมวันที่ 30 พ.ย.
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ไม่มั่นใจต่อผลการประชุมดังกล่าว เนื่องจากการเจรจาหลายครั้งก่อนหน้านี้ของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันต่างจบลงด้วยความล้มเหลว
นายฮานส์ ฟาน คลีฟ นักวิเคราะห์ด้านพลังงานของเอบีเอ็น แอมโร กล่าวว่า "เราประเมินความเป็นไปได้ที่โอเปกจะมีการปรับลดกำลังการผลิตอยู่ที่ 50-50"
"ถ้าโอเปกตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตสู่ระดับ 32.50 ล้านบาร์เรล/วัน หรือน้อยกว่านั้น นักลงทุนก็จะมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนตลาด" เขากล่าว
สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ระบุในรายงานพลังงานโลกในวันนี้ว่า โลกจะยังคงต้องพึ่งพาพลังงานที่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป ถึงแม้มีการลงทุนในพลังงานทางเลือก และมีการทำข้อตกลงระหว่างประเทศในการแก้ปัญหาโลกร้อน โดยเชื้อเพลิงจากฟอสซิลจะยังคงเป็นแหล่งพลังงานที่มีการใช้มากที่สุดบนโลก
IEA คาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันจะเพิ่มขึ้นจนถึงปี 2040 ขณะที่ยังขาดแคลนการลงทุนในพลังงานทางเลือก
IEA ระบุว่า ในระยะยาว การลงทุนในน้ำมันและก๊าซมีความสำคัญในการสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถรองรับอุปสงค์พลังงานทั่วโลก