สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (13 ก.พ.) หลังจากเบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะบ่อน้ำมันสหรัฐ รายงานว่าแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ใช้งานในสหรัฐมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งบ่งชี้ว่าการผลิตน้ำมันในสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค.ลดลง 93 เซนต์ หรือ 1.7% ปิดที่ 52.93 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนเม.ย.ร่วงลง 1.11 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 55.59 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปิดอ่อนแรงลง หลังจากเบเกอร์ ฮิวจ์รายงานว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีการใช้งานในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีจำนวนเพิ่มขึ้น 8 แท่น สู่ระดับ 591 แท่น ซึ่งมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งมีแท่นขุดเจาะน้ำมันจำนวน 439 แท่น และถือว่ามีมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2558
รายงานแท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นนั้น ส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ และยังบดบังปัจจัยบวกจากรายงานที่ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 890,000 บาร์เรล/วัน ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบกับเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า สมาชิกโอเปกปฏิบัติตามข้อตกลงลดกำลังการผลิตน้ำมันเป็นอย่างดี
แหล่งข้อมูลทุติยภูมิเผยให้เห็นว่า โอเปกผลิตน้ำมัน 32.139 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือนม.ค. ลดลงจาก 33.29 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือนธ.ค.
สำหรับประเทศที่ลดกำลังการผลิตน้ำมันลงมากที่สุดคือซาอุดิอาระเบีย โดยลดกำลังการผลิตลง 496,200 บาร์เรล/วัน ขณะที่อิรัก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต ก็ลดกำลังการผลิตลงอย่างมากเช่นกัน โดยลดลง 165,700 บาร์เรล/วัน, 159,300 บาร์เรล/วัน และ 141,200 บาร์เรล/วัน ตามลำดับ
นอกจากนี้ โอเปกยังคาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกในปีนี้จะเพิ่มขึ้นราว 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลอด 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 1.0 ล้านบาร์เรล/วัน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ขณะที่การขนส่งทางรถก็เติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง