สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ปรับตัวลงในวันนี้ หลังจากที่มีการเปิดเผยว่า สหรัฐได้ส่งออกน้ำมันดิบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 7 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว แม้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) กำลังลดกำลังการผลิตลง
ณ เวลา 23.06 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนมี.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ลดลง 22 เซนต์ หรือ 0.41% สู่ระดับ 52.89 ดอลลาร์/บาร์เรล
ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นในช่วงแรก หลังมีข่าวว่า โอเปกอาจจับมือกับประเทศนอกกลุ่มโอเปกเพื่อขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตออกไป หากสต็อกน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงไม่ปรับตัวลงสู่ระดับที่ตั้งเป้าหมายไว้
ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มโอเปกได้บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน สู่ระดับ 32.5 ล้านบาร์เรล/วัน และจากนั้นในกลางเดือนธ.ค. ผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกได้ตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตลง 558,000 บาร์เรล/วัน โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2017 และมีกำหนดเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดในกลางปีนี้
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันอ่อนตัวลง หลังมีการเปิดเผยว่าสหรัฐได้ส่งออกน้ำมันดิบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 7 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ท่ามกลางการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก
การลดกำลังการผลิตของโอเปกได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเหนือระดับ 50 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นปัจจัยดึงดูดให้ผู้ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) ของสหรัฐ หันมาผลิตน้ำมันมากขึ้น เนื่องจากจะมีกำไรในการลงทุน หลังจากที่ได้ระงับการผลิตก่อนหน้านี้จากการที่ราคาน้ำมันตกต่ำลง จนประสบภาวะขาดทุนในการผลิต
ทั้งนี้ การส่งออกน้ำมันเฉลี่ยวันละ 1 ล้านบาร์เรลของสหรัฐในสัปดาห์ที่แล้ว ถือว่ามากกว่าสัปดาห์ก่อนหน้านี้ถึงเกือบ 2 เท่า
นักวิเคราะห์มีความประหลาดใจต่อตัวเลขการส่งออกน้ำมันของสหรัฐ ซึ่งได้ทำการผลิตน้ำมันราว 500,000 บาร์เรล/วัน และเฉลี่ย 685,000 บาร์เรล/วันในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้นเกินคาดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 6 สัปดาห์
ทั้งนี้ สต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 9.5 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 518.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านบาร์เรล
ทางด้านสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ระบุว่า การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศโอเปกลดลง 1 ล้านบาร์เรล/วัน สู่ระดับ 32.06 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนม.ค. โดยประเทศสมาชิกให้ความร่วมมือลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงถึง 90% ขณะที่ซาอุดิอาระเบีย และอีกหลายประเทศลดการผลิตมากกว่าที่ระบุในข้อตกลง