สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ขยับลงเล็กน้อยในวันนี้ จากความกังวลเกี่ยวกับการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐ และปริมาณน้ำมันโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) แสดงความมุ่งมั่นที่จะลดกำลังการผลิตก็ตาม
ณ เวลา 21.55 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ลดลง 19 เซนต์ หรือ 0.36% สู่ระดับ 52.22 ดอลลาร์/บาร์เรล
เบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะบ่อน้ำมันสหรัฐ เปิดเผยว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีการใช้งานในสหรัฐในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 13 เม.ย. มีจำนวนเพิ่มขึ้น 11 แท่น สู่ระดับ 683 แท่น ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี และเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 13 ติดต่อกัน
ขณะนี้ สหรัฐมีการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 9.24 ล้านบาร์เรล/วัน ส่งผลให้สหรัฐเป็นประเทศที่มีการผลิตน้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากรัสเซีย และซาอุดิอาระเบีย
การเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของสหรัฐเป็นปัจจัยบั่นทอนความพยายามของกลุ่มโอเปกในการปรับลดการผลิตเพื่อแก้ไขภาวะน้ำมันล้นตลาดที่ดำเนินมานับตั้งแต่กลางปี 2014
กลุ่มโอเปกจะพบปะกับผู้ผลิตน้ำมันจากประเทศนอกกลุ่มในวันที่ 25 พ.ค. เพื่อตัดสินใจว่าจะมีการขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันจนถึงสิ้นปีนี้หรือไม่
ทั้งนี้ รัฐมนตรีน้ำมันของโอเปกจะประชุมกันที่สำนักงานใหญ่ในกรุงเวียนนาในวันที่ 25 พ.ค. ขณะที่การเจรจากับประเทศนอกกลุ่มจะมีขึ้นในวันเดียวกัน
สมาชิกโอเปกหลายราย เช่น ซาอุดิอาระเบีย สนับสนุนให้มีการขยายเวลาการปรับลดการผลิตน้ำมันออกไปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หากประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งหมด ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตน้ำมันจากนอกกลุ่มโอเปก ให้การสนับสนุนเช่นกัน
การที่สมาชิกโอเปก และนอกกลุ่มโอเปกจะประชุมในวันเดียวกัน บ่งชี้ว่า ประเด็นการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน จะได้ข้อยุติเร็วกว่าปีที่แล้ว ซึ่งโอเปกประชุมในวันที่ 30 พ.ย. ขณะที่การประชุมกับกลุ่มนอกโอเปกมีขึ้นหลังจากนั้นกว่า 1 สัปดาห์
ทั้งนี้ โอเปกจัดการประชุมเมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยได้บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน สู่ระดับ 32.5 ล้านบาร์เรล/วัน และจากนั้นในกลางเดือนธ.ค. ผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกได้ตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตลง 558,000 บาร์เรล/วัน โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2017 และมีกำหนดเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.ปีนี้
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลง 1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สู่ระดับ 532.3 ล้านบาร์เรล
ส่วนสต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านบาร์เรล