สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (2 มิ.ย.) เนื่องจากความวิตกกังวลที่ว่า การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ตัดสินใจนำสหรัฐถอนตัวออกจาก "ความตกลงปารีสว่าด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ" จะส่งผลให้สหรัฐขุดเจาะและผลิตน้ำมันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะน้ำมันล้นตลาด นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากรายงานที่ว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐมีจำนวนเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 20
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 70 เซนต์ หรือ 1.5% ปิดที่ 47.66 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 68 เซนต์ หรือ 1.3% ปิดที่ 49.95 ดอลลาร์/บาร์เรล
ตลอดทั้งสัปดาห์ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงทั้งสิ้น 4.3% และสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ปรับตัวลงทั้งสิ้น 4.9%
สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงหลังจากปธน.ทรัมป์ได้ตัดสินใจนำสหรัฐถอนตัวออกจาก "ความตกลงปารีสว่าด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ" โดยทรัมป์ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบขาวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า สหรัฐจะยุติการมีส่วนร่วมในความตกลงปารีสว่าด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และจะยุติการแบกรับภาระทางด้านเศรษฐกิจและการเงิน อันเนื่องมาจากการต้องปฏิบัติตามความตกลงปารีส
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การตัดสินใจของปธน.ทรัมป์จะไม่ส่งผลดีต่อราคาน้ำมัน เพราะจะทำให้มีการผลิตน้ำมันในสหรัฐมากขึ้น ซึ่งจะบั่นทอนความพยายามลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และอาจทำให้ประเทศอื่นดำเนินการตามสหรัฐ
ทางด้านนายอิกอร์ เซชิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทรอสเนฟท์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของรัสเซีย กล่าวว่า ราคาน้ำมันจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไป และคาดว่าสหรัฐจะผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.5 ล้านบาร์เรล/วันในปีหน้า
นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันหลังจากเบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะบ่อน้ำมันสหรัฐ เปิดเผยว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีการใช้งานในสหรัฐ มีจำนวนเพิ่มขึ้น 11 แท่น สู่ระดับ 733 แท่น และเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 20 ติดต่อกัน เทียบกับระดับ 325 แท่นในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว