สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดเพิ่มขึ้นราว 1% เมื่อคืนนี้ (12 ก.ค.) หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลงมากกว่าการคาดการณ์ในสัปดาห์ที่แล้ว และยังเป็นการปรับลดลงติดต่อกัน 2 สัปดาห์
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 45 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 45.49 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 22 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 47.74 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นหลังจาก EIA รายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบลดลง 7.6 ล้านบาร์เรลในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 7 ก.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 2.9 ล้านบาร์เรล
ด้านสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 1.6 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 1.1 ล้านบาร์เรล ส่วนสต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 3.1 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.1 ล้านบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม ภาวะการซื้อขายในตลาดน้ำมันนิวยอร์กได้รับแรงกดดันในระหว่างวัน จากรายงานที่บ่งชี้ถึงการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐและกลุ่มโอเปก โดยรายงานของ EIA ระบุว่า การผลิตน้ำมันของสหรัฐเพิ่มขึ้น 59,000 บาร์เรล/วัน สู่ระดับ 9.4 ล้านบาร์เรล/วัน ในสัปดาห์ที่แล้ว
ขณะที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เปิดเผยรายงานภาวะตลาดน้ำมันประจำเดือนก.ค.เมื่อวานนี้ ระบุว่า โอเปกได้ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นในเดือนมิ.ย. จากการที่ลิเบีย และไนจีเรียเพิ่มการผลิตน้ำมัน ขณะที่ซาอุดิอาระเบียก็ได้ผลิตน้ำมันมากกว่าที่ตกลงไว้ในปีที่แล้ว
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า การผลิตน้ำมันของโอเปกพุ่งขึ้น 393,500 บาร์เรล/วัน สู่ระดับ 32.6 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนมิ.ย. โดยเป็นการเพิ่มการผลิตน้ำมันของโอเปกเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน แม้โอเปกทำข้อตกลงขยายเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตในเดือนพ.ค.
การผลิตน้ำมันของลิเบีย และไนจีเรียเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับการยกเว้นจากการปฏิบัติตามข้อตกลงลดกำลังการผลิตของโอเปก
นอกจากนี้ การผลิตน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย, อิรัก และแองโกลา ก็ได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน
ซาอุดิอาระเบียเพิ่มการผลิตน้ำมัน 190,000 บาร์เรล/วัน สู่ระดับ 10.07 ล้านบาร์เรล/วัน โดยสูงกว่าที่ได้ตกลงกันในเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว
รายงานโอเปกคาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันจะชะลอตัวในปีหน้า โดยการบริโภคน้ำมันจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.26 ล้านบาร์เรล/วัน สู่ระดับ 97.6 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2018
โอเปกยังคาดการณ์ด้วยว่า การผลิตน้ำมันของประเทศนอกกลุ่มโอเปกจะเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล/วัน โดยได้แรงหนุนจากการผลิตที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ, บราซิล, แคนาดา และรัสเซีย