สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดิ่งลงกว่า 2% ในวันนี้ หลังสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกัน
อย่างไรก็ดี ราคาสัญญาน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้น 1.3% แตะระดับสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ขณะที่พายุฮาร์วีย์จ่อถล่มแหล่งผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกพรุ่งนี้
ณ เวลา 22.59 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนต.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ดิ่งลง 1.09 ดอลลาร์ หรือ 2.25% สู่ระดับ 47.32 ดอลลาร์/บาร์เรล
EIA สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 3.3 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 3.4 ล้านบาร์เรล
ด้านสต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 1.2 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 643,000 บาร์เรล
นายเกรก แอบบอตต์ ผู้ว่าการรัฐเท็กซัส ประกาศเขตภัยพิบัติสำหรับ 30 เคาน์ตีภายในรัฐ เพื่อรับมือกับพายุโซนร้อนฮาร์วีย์ที่คาดว่าจะเคลื่อนตัวมาถึงในวันพรุ่งนี้
ทั้งนี้ พายุโซนร้อนฮาร์วีย์เตรียมพัดถล่มชายฝั่งสหรัฐในรัฐเท็กซัส และหลุยเซียนา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันสำคัญของสหรัฐ
ทางด้านบริษัทน้ำมันหลายแห่ง เช่น รอยัล ดัชท์ เชลล์, อนาดาร์โค ปิโตรเลียม และเอ็กซอน โมบิล ได้พากันอพยพพนักงานออกจากแท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก
ศูนย์เฮอร์ริเคนแห่งชาติสหรัฐคาดว่า พายุโซนร้อนฮาร์วีย์จะเพิ่มกำลังกลายเป็นพายุเฮอร์ริเคนระดับ 3 ในไม่ช้า ซึ่งจะทำให้เกิดลมกรรโชกแรง และฝนตกหนัก โดยจะกระทบต่อประสิทธิภาพในการกลั่นน้ำมันของสหรัฐราว 1 ใน 3 ในภูมิภาคดังกล่าว
ขณะนี้พายุฮาร์วีย์อยู่ห่างจากเมืองพอร์ท แมนส์ฟิลด์ของรัฐเท็กซัสไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 370 ไมล์ และมีความเร็วลม 45 ไมล์/ชม. ขณะที่คาดว่าความเร็วลมจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 75 ไมล์/ชม.
ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เมืองแจ็กสัน โฮล ที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันนี้
การประชุมเศรษฐกิจประจำปีของเฟด มีกำหนดจัดขึ้นที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ในวันที่ 24-26 ส.ค.นี้ โดยหัวข้อการประชุมในปีนี้คือ "Fostering a Dynamic Global Economy" การประชุมเศรษฐกิจประจำปีซึ่งจัดขึ้นโดยเฟดสาขาแคนซัส ซิตี้นั้น จะมีการหารือกันในประเด็นเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งในสหรัฐและต่างประเทศ โดยจะมีผู้ว่าการธนาคารกลาง รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน จากประเทศต่างๆทั่วโลก เดินทางมาเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งรวมถึงนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟด, นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป และนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น
หากดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ขานรับถ้อยแถลงของนางเยลเลน ปัจจัยดังกล่าวก็จะฉุดราคาน้ำมันลง