สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดีดตัวขึ้นกว่า 1% ในวันนี้ ขานรับข้อมูลการนำเข้าน้ำมันของจีน และความปั่นป่วนในตะวันออกกลาง
ณ เวลา 23.03 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ย. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX เพิ่มขึ้น 74 เซนต์ หรือ 1.46% สู่ระดับ 51.34 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทั้งนี้ จีนนำเข้าน้ำมัน 9 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนก.ย. ขณะที่นำเข้าเฉลี่ย 8.5 ล้านบาร์เรล/วันในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงอุปสงค์น้ำมันที่แข็งแกร่งของจีนเพื่อนำไปเพิ่มเติมในสต็อกน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR)
นอกจากนี้ ความไม่สงบในอิรัก และการที่สหรัฐอาจทำการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่ออิหร่าน ก็เป็นปัจจัยหนุนตลาดในวันนี้
สื่อของอิรักรายงานในวันนี้ว่า นักรบชาวเคิร์ดจำนวนหลายหมื่นคนได้ตรึงกำลังในเขตเคอร์คุก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมัน เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่อาจมาจากกองกำลังอิรัก
ทางด้านนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะประกาศไม่ให้การรับรองต่ออิหร่านในการปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ที่มีการทำไว้ในปี 2558 ในการกล่าวแถลงที่ทำเนียบขาวในวันนี้เวลา 12.45 น.ตามเวลาสหรัฐ หรือ 23.45 น.ตามเวลาไทย
นายทิลเลอร์สันกล่าวว่า สหรัฐจะยังไม่ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน แต่สหรัฐจะมีการใช้ยุทธศาสตร์ใหม่ต่ออิหร่าน
"ขณะนี้ถึงเวลาที่ทั้งโลกจะเข้าร่วมกับเราในการเรียกร้องให้อิหร่านยุติการแสวงหาความตาย และการทำลายล้าง" ปธน.ทรัมป์กล่าวในแถลงการณ์ก่อนหน้านี้
ปธน.ทรัมป์เคยกล่าวว่า ข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน ถือเป็นข้อตกลงที่แย่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา เนื่องจากไม่เกิดประโยชน์ต่อสหรัฐ
ทั้งนี้ ภายใต้ร่างกฎหมายทบทวนข้อตกลงอิหร่าน ปธน.ทรัมป์จะต้องให้การรับรองต่อสภาคองเกรสทุกๆ 90 วันว่า อิหร่านได้ปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ และข้อตกลงดังกล่าวสอดคล้องกับผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ
ที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์เคยให้การรับรองข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านเป็นจำนวน 2 ครั้งแล้ว แต่คาดว่าในวันนี้ ปธน.ทรัมป์จะประกาศไม่ให้การรับรองข้อตกลงดังกล่าวอีกต่อไป
การประกาศไม่ให้การรับรองข้อตกลงนิวเคลียร์จะไม่ได้หมายความว่า สหรัฐจะถอนตัวออกจากข้อตกลงดังกล่าว แต่จะเป็นการเปิดโอกาสให้สภาคองเกรสมีเวลา 90 วันในการออกมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่ออิหร่าน
อย่างไรก็ดี คาดว่าปธน.ทรัมป์จะกล่าวต่อสภาคองเกรสว่า การใช้มาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านจะไม่เกิดประโยชน์ต่อสหรัฐ แต่สหรัฐควรจะใช้โอกาสนี้ในการแก้ไขร่างกฎหมายทบทวนข้อตกลงอิหร่านเพื่อสร้างมาตรฐานอ้างอิงที่จะทำให้มีการคว่ำบาตรโดยอัตโนมัติ หากอิหร่านทำการละเมิดเงื่อนไขในข้อตกลง
นายคริส วัตลิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทลองวิว อีโคโนมิคส์ กล่าวว่า ราคาน้ำมันมีแนวโน้มทรุดตัวลงแตะระดับ 10 ดอลลาร์/บาร์เรลในช่วง 6-8 ปีข้างหน้า เนื่องจากการลงทุนในแหล่งพลังงานทางเลือก ยังคงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากนักลงทุน
นายวัตลิงระบุว่า ถึงแม้สิ่งนี้จะยังไม่เกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ หรือไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่รถยนต์ไฟฟ้าจะส่งผลกระทบอย่างมากในระยะยาว เนื่องจากการใช้น้ำมันราว 70% ในปัจจุบันเป็นการใช้ในภาคการขนส่ง
ขณะเดียวกัน นายวัตลิงกล่าวว่า การเสนอขายหุ้นครั้งแรกต่อสาธารณชน (IPO) ของบริษัทอารามโคของซาอุดิอาระเบียในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า จะเป็นปัจจัยช่วยกระตุ้นตลาด แต่บริษัทควรรีบทำ IPO ก่อนที่ราคาจะทรุดตัวลงสู่ 10 ดอลลาร์