สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (18 ม.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลต่อการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐ หลังจากที่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ระบุว่า การผลิตน้ำมันของสหรัฐจะพุ่งสูงขึ้นในปีนี้ พร้อมกับเตือนว่าการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อการปรับสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาด
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. ลดลง 58 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 63.37 ดอลลาร์/บาร์เรล และลดลงประมาณ 1.5% ตลอดสัปดาห์
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 70 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 68.61 ดอลลาร์/บาร์เรล และลดลงประมาณ 1.8% ตลอดสัปดาห์
ภาวะการซื้อขายในตลาดได้รับแรงกดดันจากรายงานของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ที่ระบุว่า สหรัฐมีแนวโน้มครองอันดับประเทศที่ผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลกในปีนี้ โดยแซงหน้ารัสเซียและซาอุดิอาระเบีย ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลกสองอันดับแรกตามลำดับ
IEA ระบุว่า ขณะนี้สหรัฐผลิตน้ำมัน 9.9 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 50 ปี โดยได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น ซึ่งสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) หลังจากที่ได้ลดกำลังการผลิตลงในช่วงที่ราคาน้ำมันตกต่ำ
IEA คาดการณ์ว่า สหรัฐจะเพิ่มกำลังการผลิตสู่ระดับสูงกว่า 10 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ หากรัสเซีย และซาอุดิอาระเบียยังคงปรับลดกำลังการผลิตถึงสิ้นปีนี้ตามข้อตกลงที่ทำไว้ระหว่างกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศนอกกลุ่มโอเปก
ขณะเดียวกัน IEA ยังคงตัวเลขอุปสงค์น้ำมันระดับโลกในปี 2560 และ 2561 ที่ระดับ 97.8 ล้านบาร์เรล/วัน และ 99.1 ล้านบาร์เรล/วันตามลำดับ
ทางด้านกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ได้ออกรายงานประจำเดือนม.ค. เมื่อวันพฤหัสบดี ซึ่งระบุว่า ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกได้เพิ่มขึ้นในเดือนธ.ค. และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอีกในปีนี้ อันเนื่องจากการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มประเทศนอกโอเปก
รายงานดังกล่าวคาดการณ์ว่า กลุ่มประเทศนอกโอเปกจะผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น 1.15 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ สู่ระดับ 58.94 ล้านบาร์เรล/วัน โดยประเทศในกลุ่มนอกโอเปกที่ผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐ แคนาดา เม็กซิโก สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก อินโดนีเซีย บราซิล และลาตินอเมริกา
นอกจากนี้ รายงานของโอเปกยังระบุว่า ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 0.40 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนธ.ค. สู่ระดับ 97.49 ล้านบาร์เรล/วัน
ด้าน เบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐ เปิดเผยในวันศุกร์ว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐที่มีการใช้งาน มีจำนวนลดลง 5 แท่น สู่ระดับ 747 แท่นในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ในรอบ 3 สัปดาห์ แม้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี
อย่างไรก็ดี แท่นขุดเจาะน้ำมันยังคงมีจำนวนมากกว่าระดับ 551 แท่นในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า แบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ และ มอร์แกน สแตนลีย์ ต่างปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า ขณะนี้กำลังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่ราคาจะพุ่งสูงเกินราคาเป้าหมายในปัจจุบัน