สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ปรับตัวขึ้นในวันนี้ หลังจากพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีเมื่อวานนี้ โดยได้อานิสงส์จากการอ่อนค่าของดอลลาร์
ณ เวลา 22.50 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนมี.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX เพิ่มขึ้น 24 เซนต์ หรือ 0.37% สู่ระดับ 65.75 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง จะเพิ่มความน่าดึงดูดของสัญญาน้ำมัน โดยทำให้มีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น
ดอลลาร์ยังคงร่วงลงในวันนี้ แม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวสนับสนุนการแข็งค่าของดอลลาร์ สวนทางความเห็นของนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ
นอกจากนี้ การเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลงในไตรมาส 4 ก็เป็นปัจจัยกดดันค่าเงินดอลลาร์
ณ เวลา 22.11 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์ร่วงลง 0.68% สู่ระดับ 108.65 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.34% สู่ระดับ 135.15 เยน และดีดตัวขึ้น 0.35% สู่ระดับ 1.2438 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.48% สู่ระดับ 88.96 หลังจากแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ 88.43 ก่อนหน้านี้
ปธน.ทรัมป์กล่าวเมื่อวานนี้ว่า เขาสนับสนุนการแข็งค่าของดอลลาร์ และเชื่อว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นอีก เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐมีความแข็งแกร่งในหลายภาคส่วน
นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์ยังกล่าวถึงกรณีที่นายสตีเวน มนูชิน รมว.คลัง ได้กล่าวในเชิงสนับสนุนการอ่อนค่าของดอลลาร์ว่า สื่อมวลชนอาจตีความคำพูดของนายมนูชินผิดไปจากวัตถุประสงค์ที่เขาต้องการจะสื่อ เพราะความจริงแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในภาวะที่แข็งแกร่ง และคงไม่มีใครพูดถึงสกุลเงินดอลลาร์ในทิศทางตรงกันข้าม
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลง 1.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 1.6 ล้านบาร์เรล โดยสวนทาง API ซึ่งระบุก่อนหน้านี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้น 4.8 ล้านบาร์เรล หลังจากร่วงลงเป็นเวลา 9 สัปดาห์ติดต่อกัน
สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 3.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 2.5 ล้านบาร์เรล
สต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 639,000 บาร์เรล เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าร่วงลง 1.5 ล้านบาร์เรล
นักวิเคราะห์ระบุว่า ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากเศรษฐโลกที่มีการขยายตัวแข็งแกร่ง ซึ่งบ่งชี้ถึงอุปสงค์น้ำมันที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งจากการที่กลุ่มโอเปกยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตจนถึงสิ้นปีนี้
ทางด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ และปีหน้า สู่ระดับ 3.9% โดยปรับเพิ่มขึ้น 0.2%
IMF ระบุว่า การปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวมีสาเหตุจากแรงผลักดันการขยายตัวในระดับโลกที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งจากอานิสงส์ของการที่รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทำการปฏิรูประบบภาษี
ราคาน้ำมันยังได้รับปัจจัยหนุนจากการที่สหรัฐลดการขุดเจาะน้ำมันในสัปดาห์ที่แล้ว
เบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐ เปิดเผยว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐที่มีการใช้งาน มีจำนวนลดลง 5 แท่น สู่ระดับ 747 แท่นในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ในรอบ 3 สัปดาห์ แม้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี
อย่างไรก็ดี การที่ EIA ระบุว่า การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้นใกล้แตะระดับ 9.9 ล้านบาร์เรล/วัน และคาดว่าจะพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เหนือระดับ 10 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนก.พ. เป็นปัจจัยกดดันตลาด