สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ปรับตัวลงในวันนี้ หลังสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว
อย่างไรก็ดี แม้ราคาน้ำมันร่วงลงในวันนี้ แต่ก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นในเดือนนี้เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน
ณ เวลา 23.29 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนมี.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ลดลง 38 เซนต์ หรือ 0.59% สู่ระดับ 64.12 ดอลลาร์/บาร์เรล
EIA เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้น 6.8 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้นเพียง 100,000 บาร์เรล ขณะที่สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) ระบุก่อนหน้านี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้น 3.2 ล้านบาร์เรล หลังจากร่วงลงเป็นเวลา 10 สัปดาห์ติดต่อกัน
ทั้งนี้ สต็อกน้ำมันดิบมักเพิ่มขึ้นในเดือนม.ค. แต่สำหรับในปีนี้ สต็อกน้ำมันดิบดิ่งลงมากกว่า 12 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นจำนวนการลดลงมากที่สุดของเดือนม.ค.ในรอบ 30 ปี
สต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล
สต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 1.9 ล้านบาร์เรล เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าร่วงลง 1.5 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการผลิตน้ำมันที่มากขึ้นของสหรัฐ โดยเบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐ เปิดเผยว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐที่มีการใช้งาน มีจำนวนเพิ่มขึ้น 12 แท่น สู่ระดับ 759 แท่นในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.ปีที่แล้ว และเป็นการเพิ่มขึ้นรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ปีที่แล้ว โดยได้แรงหนุนจากการที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี
นอกจากนี้ แท่นขุดเจาะน้ำมันยังมีจำนวนมากกว่าระดับ 566 แท่นในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ระบุว่า สหรัฐมีแนวโน้มครองอันดับประเทศที่ผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลกในปีนี้ โดยแซงหน้ารัสเซีย ขณะที่สหรัฐสามารถผลิตน้ำมันเทียบเท่ากับซาอุดิอาระเบียแล้ว ที่ระดับ 9.9 ล้านบาร์เรล/วัน
ปัจจุบันรัสเซียเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลก
IEA ระบุว่า ขณะนี้สหรัฐผลิตน้ำมัน 9.9 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 50 ปี โดยได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น ซึ่งสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้ผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) หลังจากที่ได้ลดกำลังการผลิตลงในช่วงที่ราคาน้ำมันตกต่ำ
IEA คาดการณ์ว่า สหรัฐจะเพิ่มกำลังการผลิตสู่ระดับสูงกว่า 10 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ หากรัสเซีย และซาอุดิอาระเบียยังคงปรับลดกำลังการผลิตถึงสิ้นปีนี้ตามข้อตกลงที่ทำไว้ระหว่างโอเปก และประเทศนอกกลุ่มโอเปก