ราคาน้ำมัน WTI ดิ่งกว่า 1% หลุดระดับ 65 ดอลลาร์ เหตุดอลล์แข็งกดดันตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 2, 2018 23:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดิ่งลงกว่า 1% หลุดระดับ 65 ดอลลาร์ในวันนี้ ตามการทรุดตัวของตลาดหุ้นวอลล์สตรีท จากความกังวลเกี่ยวกับการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่ง

นอกจากนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่า ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันตลาด

ณ เวลา 23.35 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนมี.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ลดลง 1.04 ดอลลาร์ หรือ 1.58% สู่ระดับ 64.76 ดอลลาร์/บาร์เรล

ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น จะลดความน่าดึงดูดของสัญญาน้ำมัน โดยทำให้สัญญามีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น

ดอลลาร์พุ่งขึ้นในวันนี้ ตามการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยขานรับตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งช่วยหนุนการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 3 ครั้งในปีนี้

ณ เวลา 23.18 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์แข็งค่า 0.90% สู่ระดับ 110.37 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวขึ้น 0.35% สู่ระดับ 137.31 เยน และร่วงลง 0.53% สู่ระดับ 1.2442 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.66% สู่ระดับ 89.25

ดัชนีดาวโจนส์ทรุดหนักกว่า 300 จุด หลุดระดับ 26,000 จุดในวันนี้ ขณะที่นักลงทุนมีความวิตกกังวลต่อการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่ง

ตลาดกังวลว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดไว้ในปีนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่พุ่งขึ้นเกินคาด และตัวเลขค่าแรงของแรงงานที่ดีดตัวขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 9 ปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน

นักวิเคราะห์ระบุว่า ตัวเลขรายได้หรือค่าแรงของแรงงานที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบเกือบ 9 ปีในเดือนม.ค. จะเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดภายใต้การนำของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดคนใหม่ที่จะเข้ารับตำแหน่งในวันจันทร์หน้า ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้มากกว่า 3 ครั้งที่มีการคาดการณ์กันก่อนหน้านี้ เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อที่จะดีดตัวขึ้น

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐทะยานขึ้นในวันนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานสหรัฐที่แข็งแกร่ง ส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 30 ปีพุ่งขึ้นเหนือระดับ 3% แตะ 3.074% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.ปีที่แล้ว ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเภทอายุ 10 ปี ทะยานขึ้นแตะ 2.83% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 ปี หลังจากที่ได้ดีดตัวขึ้น 0.31% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบรายเดือนนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2559 ซึ่งในเดือนดังกล่าว อัตราผลตอบแทนพุ่งขึ้น 0.53%

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานวันนี้ว่า ตัวเลขค่าแรงต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 9 เซนต์/ชั่วโมง หรือ 0.3% และเพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2552

ตัวเลขค่าแรงต่อชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ

นายจอห์น บริกก์ หัวหน้านักวิเคราะห์จากแน็ทเวสต์ มาร์เก็ตส์ กล่าวว่า ตัวเลขค่าแรงเป็นปัจจัยที่ผลักดันตลาดพันธบัตร และนักลงทุนจะจับตาตัวเลขดังกล่าวในเดือนหน้าเพื่อดูว่าค่าแรงจะยังคงพุ่งขึ้นหรือไม่

กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในเดือนม.ค. โดยปรับตัวขึ้น 200,000 ตำแหน่ง ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 180,000 ตำแหน่ง หลังจากที่เพิ่มขึ้น 160,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค. ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปี

กระทรวงแรงงานสหรัฐยังได้ทบทวนปรับลดตัวเลขการจ้างงานในเดือนพ.ย. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 216,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 252,000 ตำแหน่ง และทบทวนปรับเพิ่มตัวเลขจ้างงานในเดือนธ.ค. โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 160,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 148,000 ตำแหน่ง

กระทรวงแรงงานสหรัฐระบุว่าในเดือนม.ค. ภาคเอกชนมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 196,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาครัฐจ้างงานเพิ่มขึ้น 4,000 ตำแหน่ง

ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด ทรงตัวที่ระดับ 62.7%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ