สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI สามารถลดช่วงติดลบในวันนี้ ขณะที่ตลาดการเงินเริ่มมีเสถียรภาพ หลังจากที่ทรุดตัวลงก่อนหน้านี้
ณ เวลา 23.45 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนมี.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ลดลง 39 เซนต์ หรือ 0.61% สู่ระดับ 63.76 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากดิ่งลงแตะ 63.12 ดอลลาร์ในช่วงแรก ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์
อย่างไรก็ดี ราคาสัญญาน้ำมัน WTI ยังคงดิ่งลง 3% นับตั้งแต่ที่ตลาดหุ้นทรุดตัวลงในวันศุกร์ที่ผ่านมา จากความกังวลเกี่ยวกับการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และเงินเฟ้อ
ขณะเดียวกัน ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นในวันนี้ ได้ลดความน่าดึงดูดของสัญญาน้ำมัน โดยทำให้สัญญามีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น
ดอลลาร์ปรับตัวขึ้นในวันนี้ จากการที่นักลงทุนคาดการณ์ว่าช่องว่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่นจะกว้างขึ้น จากการดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกัน
ณ เวลา 23.23 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์ขยับขึ้น 0.06% สู่ระดับ 109.15 เยน ขณะที่ยูโรปรับตัวลง 0.07% สู่ระดับ 134.82 เยน และร่วงลง 0.1% สู่ระดับ 1.2355 ดอลลาร์ ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.31% สู่ระดับ 89.83
ดอลลาร์อ่อนค่าลงในช่วงแรก จากการที่นักลงทุนพากันเทขายสินทรัพย์เสี่ยง หลังการดิ่งลงของตลาดหุ้นทั่วโลก
อย่างไรก็ดี ดอลลาร์ฟื้นตัวขึ้นในเวลาต่อมา หลังจากที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวว่า บีโอเจยังคงอยู่ห่างไกลจากการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% และบีโอเจจะยังคงดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป
นอกจากนี้ การผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันตลาดน้ำมัน
เบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐ เปิดเผยว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐที่มีการใช้งาน มีจำนวนเพิ่มขึ้น 6 แท่น สู่ระดับ 765 แท่นในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.ปีที่แล้ว และเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2 โดยได้แรงหนุนจากการที่ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี และแท่นขุดเจาะน้ำมันยังคงมีจำนวนมากกว่าระดับ 583 แท่นในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สหรัฐสามารถผลิตน้ำมันมากกว่า 10 ล้านบาร์เรล/วันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2513
ทางด้านสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ระบุว่า สหรัฐมีแนวโน้มครองอันดับประเทศที่ผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลกในปีนี้ โดยแซงหน้ารัสเซีย ขณะที่สหรัฐสามารถผลิตน้ำมันเทียบเท่ากับซาอุดิอาระเบียแล้ว