สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI และเบรนท์ต่างทรุดตัวลงอย่างหนักในวันนี้ หลังมีรายงานว่า ซาอุดิอาระเบียและรัสเซียกำลังหารือกันในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน
ณ เวลา 18.24 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนก.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ลดลง 1.47 ดอลลาร์ หรือ 2.08% สู่ระดับ 69.24 ดอลลาร์/บาร์เรล
ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ดิ่งลง 1.92 ดอลลาร์ หรือ 2.44% สู่ระดับ 76.87 ดอลลาร์/บาร์เรล
แหล่งข่าวระบุว่า ซาอุดิอาระเบียและรัสเซียกำลังหารือกันในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันราว 1 ล้านบาร์เรล/วัน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นมากเกินไป และภาวะขาดแคลนน้ำมันในตลาด
ก่อนหน้านี้ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศนอกกลุ่มโอเปก นำโดยรัสเซีย มีมติขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1.8 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปีนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน
อย่างไรก็ดี ในเดือนที่แล้ว กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันได้ให้ความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันมากถึง 152% ซึ่งหมายความว่ามีการปรับลดกำลังการผลิตรวมกันมากกว่า 1.8 ล้านบาร์เรล/วันที่ตกลงกันไว้
แหล่งข่าวระบุว่า โอเปกและผู้ผลิตน้ำมันนอกโอเปกจะทบทวนนโยบายการผลิตน้ำมันในการประชุมที่กรุงเวียนนาในวันที่ 22-23 มิ.ย. โดยอาจมีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อให้ตัวเลขความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันลดลงสู่ระดับ 100% จาก 152% ในขณะนี้
แหล่งข่าวกล่าวว่า ซาอุดิอาระเบียและรัสเซียได้หารือเกี่ยวกับการปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในสัปดาห์นี้ โดยมีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เข้าร่วมประชุมด้วยในฐานะประธานโอเปก
นอกจากนี้ ความพยายามในการปรับเพิ่มการผลิตน้ำมันดังกล่าว ส่วนหนึ่งก็เพื่อชดเชยกับปริมาณน้ำมันที่จะขาดหายไปจากการที่อิหร่านและเวเนซุเอลาอาจถูกสหรัฐคว่ำบาตร
ราคาน้ำมันได้พุ่งขึ้นเกือบ 20% ในปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตของโอเปกและรัสเซีย รวมทั้งจากการที่สหรัฐอาจคว่ำบาตรอิหร่านและเวเนซุเอลา
การผลิตน้ำมันในเวเนซุเอลาได้รับผลกระทบก่อนหน้านี้จากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย และหากรัฐบาลสหรัฐตัดสินใจคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนเซุเอลา ก็จะทำให้การส่งออกน้ำมันของเวเนซุเอลายิ่งลดน้อยลง
คณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งซึ่งระบุว่านายนิโคลัส มาดูโร ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเวเนซุเอลา และกำลังพิจารณาใช้มาตรการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลา ขณะที่รัฐบาลของประเทศต่างๆก็ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้เช่นกัน ซึ่งรวมถึงรัฐบาลชิลีที่ออกแถลงการณ์โจมตีว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเวเนซุเอลาขาดความชอบธรรม ไม่มีความโปร่งใส และไม่ได้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย
ทางด้านนายเฮนรี ฟอลคอน และนายคาเวียร์ เบตุชชี สองผู้สมัครคู่แข่ง รวมทั้งพรรคฝ่ายค้านของเวเนซุเอลา ได้ออกมาบอยคอตการเลือกตั้งครั้งนี้เช่นกัน พร้อมเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งขึ้นใหม่ โดยอ้างว่ามีการกระทำที่ส่อถึงการทุจริตเลือกตั้งและเอื้อประโยชน์ต่อนายมาดูโร
นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์มิซูโฮกล่าวว่า ปัจจุบันสหรัฐได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่หลายคนของเวเนซุเอลาอยู่แล้ว และหากมีการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลาซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มโอเปก ก็จะส่งผลให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกลดน้อยลงอีก
ขณะเดียวกัน การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน จะปูทางให้สหรัฐทำการคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า สหรัฐจะประกาศคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของอิหร่านจำนวน 200,000-1,000,000 บาร์เรล/วัน
ขณะนี้ อิหร่านนับเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก โดยเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของกลุ่มประเทศโอเปก โดยอิหร่านส่งออกน้ำมันมากกว่า 2.6 ล้านบาร์เรล/วัน หลังจากที่มีการลงนามในข้อตกลงในปี 2558 กับกลุ่มประเทศ P5+1 ซึ่งได้แก่ จีน รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐ และเยอรมนี ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้ P5+1 ผ่อนปรนการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน เพื่อแลกกับการที่อิหร่านระงับการพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์