สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดิ่งลงกว่า 1% หลุดระดับ 67 ดอลลาร์ในวันนี้ จากความวิตกเกี่ยวกับการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของสหรัฐ ซึ่งใกล้แตะระดับการผลิตของรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันมากที่สุดของโลกในขณะนี้
ณ เวลา 22.57 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนก.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ลดลง 74 เซนต์ หรือ 1.10% สู่ระดับ 66.30 ดอลลาร์/บาร์เรล
ราคาสัญญาน้ำมัน WTI มีแนวโน้มปรับตัวลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน โดยร่วงลงเกือบ 2% ในสัปดาห์นี้ หลังจากทรุดตัวลงเกือบ 5% ในสัปดาห์ที่แล้ว จากข่าวที่ว่าซาอุดิอาระเบียและรัสเซียกำลังหารือกันในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันราว 1 ล้านบาร์เรล/วัน
ทางด้านสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้น 215,000 บาร์เรล/วันในเดือนมี.ค. สู่ระดับ 10.47 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ส่วนสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้ทบทวนปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ โดยคาดว่าสหรัฐจะผลิตน้ำมันมากกว่า 120,000 บาร์เรล/วัน สู่ระดับ 11.17 ล้านบาร์เรล/วันภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งจะทำให้สหรัฐแซงหน้ารัสเซียกลายเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลก ขณะที่สหรัฐสามารถผลิตน้ำมันได้มากกว่าซาอุดิอาระเบียในปีที่แล้ว
สำหรับในปีหน้า EIA คาดว่าสหรัฐจะผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น 570,000 บาร์เรล/วัน สู่ระดับ 11.27 ล้านบาร์เรล/วัน
นอกจากนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ในวันนี้ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันราคาน้ำมันในตลาด โดยดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น จะลดความน่าดึงดูดของสัญญาน้ำมัน โดยทำให้สัญญามีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น
ดอลลาร์ดีดตัวเทียบเยนและยูโรในวันนี้ หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานสหรัฐที่แข็งแกร่ง และการพุ่งขึ้นของค่าจ้างแรงงาน ซึ่งช่วยหนุนการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 12-13 มิ.ย.
ณ เวลา 20.05 น.ตามเวลาไทย ดอลลาร์แข็งค่า 0.79% สู่ระดับ 109.67 เยน และดีดตัว 0.19% สู่ระดับ 1.1668 เทียบยูโร ขณะที่ยูโรปรับตัวขึ้น 0.60% สู่ระดับ 127.96 เยน ส่วนดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน บวก 0.21% สู่ระดับ 94.18
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานในวันนี้ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้นมากกว่าคาดในเดือนพ.ค. โดยเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 188,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.8% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.2543 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะทรงตัวที่ระดับ 3.9%