ภาวะตลาดน้ำมันน้ำมัน WTI ปิดลดลง 21 เซนต์ วิตกอุปทานเพิ่ม-อุปสงค์ลด, นลท.รอดูประชุมโอเปก

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday June 9, 2018 07:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวลดลงเมื่อคืนนี้ (8 มิ.ย.) เนื่องจากความกังวลเกี่ยวอุปทานที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น จากการพุ่งขึ้นของการผลิตน้ำมันในสหรัฐ สวนทางกับอุปสงค์ในจีนที่ลดลง ด้านเบเกอร์ ฮิวจ์ เผยแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐมีจำนวนสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี ขณะเดียวกัน นักลงทุนรอดูการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนนี้ ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าทางกลุ่มจะยังไม่ปรับเพิ่มกำลังการผลิตในการประชุมครั้งนี้

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 21 เซนต์ หรือ 0.3% ปิดที่ 65.74 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่ทั้งสัปดาห์ ราคาลดลง 0.3% ซึ่งเป็นการลดลงสามสัปดาห์ติดต่อกัน

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนส.ค. ร่วงลง 86 เซนต์ หรือ 1.1% ปิดที่ 76.46 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่งผลให้ทั้งสัปดาห์ ราคาน้ำมันเบรนท์ปรับตัวลดลงไป 0.5%

ภาวะการซื้อขายในตลาดน้ำมันถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปสงค์-อุปทาน หลังมีรายงานว่า จีนนำเข้าน้ำมันดิบจำนวน 39.05 ล้านตันในเดือนพ.ค. หรือ 9.2 ล้านบาร์เรล/วัน โดยลดลงเมื่อเทียบกับ 9.6 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ด้านสหรัฐเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันสูงเป็นประวัติการณ์ โดยแตะระดับ 10.8 ล้านบาร์เรล/วันในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 28% ในช่วงเวลาเพียง 2 ปี

สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้ทบทวนปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ โดยคาดว่าสหรัฐจะผลิตน้ำมันมากกว่า 120,000 บาร์เรล/วัน สู่ระดับ 11.17 ล้านบาร์เรล/วันภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งจะทำให้สหรัฐแซงหน้ารัสเซียกลายเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลก ขณะที่สหรัฐสามารถผลิตน้ำมันได้มากกว่าซาอุดิอาระเบียในปีที่แล้ว

สำหรับในปีหน้า EIA คาดว่าสหรัฐจะผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น 570,000 บาร์เรล/วัน สู่ระดับ 11.27 ล้านบาร์เรล/วัน

นอกจากนี้ การซื้อขายยังเป็นไปอย่างซบเซา หลังเบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐ เปิดเผยว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐที่มีการใช้งาน มีจำนวนเพิ่มขึ้น 1 แท่น สู่ระดับ 862 แท่นในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2558

ขณะที่เจพีมอร์แกนได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI สู่ระดับ 62.20 ดอลลาร์/บาร์เรลในปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 65.20 ดอลลาร์/บาร์เรล

อย่างไรก็ตาม ภาวะการซื้อขายยังคงได้แรงหนุนส่วนหนึ่งจากอุปทานน้ำมันที่ลดลงในเวเนซุเอลา หลังมีรายงานเมื่อวันก่อนว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันของเวเนซุเอลาร่วงลงอย่างหนัก อันเนื่องมาจากมาตรการคว่ำบาตรและวิกฤตเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่นเดียวกับอุปทานน้ำมันจากอิหร่านที่คาดว่าจะลดลง เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐ

ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตาการประชุมทบทวนนโยบายการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปก และประเทศนอกกลุ่มโอเปก ในการประชุมที่กรุงเวียนนาในวันที่ 22 มิ.ย. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ กลุ่มโอเปกและประเทศนอกกลุ่ม นำโดยรัสเซีย มีมติขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1.8 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปีนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน

ทั้งนี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่า กลุ่มโอเปกอาจยังไม่ปรับเพิ่มกำลังการผลิตในการประชุมครั้งนี้ หลังจากรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของอัลจีเรียเปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า กลุ่มโอเปกจะมุ่งเน้นในเรื่องการสร้างสมดุลในตลาด มากกว่าการปรับเพดานการผลิต ขณะที่เจ้าหน้าที่อิรักกล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้จะไม่มีการหารือกันในประเด็นปรับเพิ่มกำลังการผลิต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ