สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2% เมื่อคืนนี้ (15 มิ.ย.) ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ดิ่งลงกว่า 3% โดยได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก อาจตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิต ในการประชุมสัปดาห์หน้า
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 1.83 ดอลลาร์ หรือ 2.7% ปิดที่ 65.06 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.ปีนี้ และตลอดทั้งสัปดาห์ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงราว 4%
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนส.ค. ดิ่งลง 2.50 ดอลลาร์ หรือ 3.3% ปิดที่ 73.44 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย.ปีนี้ และตลอดทั้งสัปดาห์ สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลงราว 1%
สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงอย่างหนักหลังจากมีการคาดการณ์ว่า ซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็นสมาชิกรายใหญ่ของกลุ่มโอเปก อาจจะพิจารณาปรับเพิ่มกำลังการผลิต 500,000 บาร์เรล สู่ระดับ 1 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่รัสเซียอาจพิจารณาเพิ่มการผลิตสูงถึง 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน
การคาดการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากนายอเล็กซานเดอร์ โนวัค รมว.พลังงานของรัสเซียได้กล่าวภายหลังการหารือกับนายคาลิด อัล-ฟาลีห์ รมว.พลังงานซาอุดิอาระเบียที่กรุงมอสโกเมื่อไม่นานมานี้ว่า รัสเซียและซาอุดิอาระเบียให้การสนับสนุนในหลักการต่อการปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากที่ได้มีการจำกัดกำลังการผลิตเป็นเวลา 18 เดือน โดยนายโนวัคกล่าวว่า ทางเลือกหนึ่งก็คือ การเพิ่มกำลังการผลิต 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.
ขณะที่นายคาลิดคาดว่า ที่ประชุมกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันจะบรรลุข้อตกลงที่สร้างความพึงพอใจ โดยเฉพาะต่อตลาด
ทั้งนี้ กลุ่มประเทศโอเปก และผู้ผลิตน้ำมันนอกโอเปกจะทบทวนนโยบายการผลิตน้ำมันในการประชุมที่กรุงเวียนนาในวันที่ 22-23 มิ.ย.
นอกจากนี้ การผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐยังสร้างแรงกดดันต่อตลาดเช่นกัน โดยเบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐ รายงานล่าสุดเมื่อวานนี้ว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐที่มีการใช้งาน มีจำนวนเพิ่มขึ้น 1 แท่น สู่ระดับ 863 แท่นในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2558 และเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4