สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (6 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนช้อนซื้อเก็งกำไรหลังจากสัญญาน้ำมันดิบร่วงลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่พุ่งขึ้นเกินคาดในสัปดาห์ที่แล้ว
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 86 เซนต์ หรือ 1.2% ปิดที่ 73.80 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 28 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 77.11 ดอลลาร์/บาร์เรล
สำนักข่าวซินหัวรายงานโดยอ้างความเห็นของนักวิเคราะห์หลายรายว่า ปัจจัยที่ทำให้สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปิดตลาดในแดนบวกเมื่อคืนนี้ มาจากการที่นักลงทุนเข้าช้อนซื้อเก็งกำไร หลังจากสัญญาน้ำมันร่วงลง 1.6% เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ภายหลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล ในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 29 มิ.ย. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะลดลง 3.5 ล้านบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม ตลอดทั้งสัปดาห์ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงทั้งสิ้น 0.5% ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ร่วงลง 2.7% เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยเมื่อวานนี้ สหรัฐได้เรียกเก็บภาษี 25% ต่อสินค้านำเข้าจากจีนจำนวนมากกว่า 800 รายการ คิดเป็นมูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนก็ได้ตอบโต้ด้วยการเก็บภาษี 25% ต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐในวงเงินที่เท่ากัน
นอกจากนี้ บรรยากาศการซื้อขายในตลาดน้ำมันนิวยอร์กยังได้รับแรงกดดันจากรายงานของเบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งระบุว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐที่มีการใช้งาน มีจำนวนเพิ่มขึ้น 5 แท่น สู่ระดับ 863 แท่นในสัปดาห์นี้ หลังจากลดลงเป็นเวลา 2 สัปดาห์ติดต่อกัน
นักลงทุนจับตาสถานการณ์ด้านการผลิตน้ำมันของชาติสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) หลังจากซาอุดิอาระเบียได้เพิ่มกำลังการผลิต 500,000 บาร์เรล/วันในเดือนมิ.ย. เพื่อชดเชยการลดกำลังการผลิตของบางประเทศ ขณะที่เวเนซุเอลา อังโกลา และลิเบีย ได้ปรับลดการผลิตน้ำมัน เนื่องจากประสบปัญหาภายในประเทศ
ทางด้านอิหร่านขู่ว่าจะสกัดการขนส่งน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย หากสหรัฐใช้มาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน โดยเมื่อไม่นานมานี้ สหรัฐเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ และบริษัทน้ำมัน ระงับการซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านภายในวันที่ 4 พ.ย. มิฉะนั้นจะถูกสหรัฐทำการคว่ำบาตร
ทั้งนี้ วันที่ 4 พ.ย.ถือเป็นวันครบกำหนด 180 วันนับจากวันที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านในเดือนพ.ค. ซึ่งจะทำให้ปธน.ทรัมป์สามารถออกคำสั่งคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่