สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 ส.ค.) ปิดปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 วัน โดยนักลงทุนเข้าซื้อเก็งกำไรหลังราคาน้ำมันดิบร่วงหนักแตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 เดือน ประกอบกับตลาดได้แรงหนุนจากข้อมูลที่เผยให้เห็นว่า สต็อกน้ำมันดิบ ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอกลาโฮมา ลดลงอย่างมาก รวมทั้งยังได้ปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์ตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 1.30 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 68.96 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 1.06 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 73.45 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ได้รับปัจจัยหนุนหลังจากเจนสเคป (Genscape) ผู้ให้บริการข้อมูลด้านพลังงานระบุว่า ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ที่เมืองคุชชิ่ง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมัน ลดลง 1.1 ล้านบาร์เรล หรือ 3.6% ในช่วงวันศุกร์ถึงวันอังคารที่ผ่านมา ลงมาอยู่ที่ราว 24.6 ล้านบาร์เรล ณ วันที่ 31 ก.ค. ซึ่งถือเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2557
ขณะเดียวกัน ภาวะการซื้อขายในวันพฤหัสบดียังได้แรงหนุนจากข่าวที่ว่า อิหร่านมีแผนจัดการซ้อมรบในช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันที่สำคัญ เพื่อตอบโต้นโยบายคว่ำบาตรของสหรัฐ โดยนักวิเคราะห์มองว่าแผนการซ้อมรบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า อิหร่านไม่ยอมจำนนต่อสหรัฐ ซึ่งอาจจะส่งผลให้สถานการณ์ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้น และผลักดันราคาน้ำมันดิบให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไป
นอกจากนี้ นักลงทุนยังได้พากันส่งคำสั่งซื้อเข้าตลาด หลังจากราคาน้ำมัน WTI ดิ่งลงต่ำกว่า 67 ดอลลาร์ แตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์ จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด ขณะที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เพิ่มกำลังการผลิต และสต็อกน้ำมันสหรัฐเพิ่มขึ้นเกินคาด
โดยสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยเมื่อวันพุธว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้น 3.8 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าลดลง 2.8 ล้านบาร์เรล
EIA ยังเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 2.5 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าลดลง 1.3 ล้านบาร์เรล
ส่วนสต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 3 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเพิ่มขึ้น 264,000 บาร์เรล
ทั้งนี้ ภาวะตลาดน้ำมันในช่วงหลายวันที่ผ่านมาได้รับแรงกดดัน หลังมีรายงานข่าวว่า โอเปกและรัสเซียได้เพิ่มการผลิตน้ำมัน โดยกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันได้ทำการผลิตน้ำมันในเดือนก.ค.มากที่สุดนับตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยเพิ่มกำลังการผลิต 70,000 บาร์เรล/วัน สู่ระดับ 32.64 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของปีนี้
ซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ต่างก็เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อชดเชยการผลิตน้ำมันจากอิหร่านที่อาจลดลงจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ
สำหรับในวันศุกร์นี้ นักลงทุนรอดูเบเกอร์ ฮิวจ์ รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐที่มีการใช้งานประจำสัปดาห์ ซึ่งถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้วัดกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมน้ำมัน
ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังคงจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่สร้างความวิตกกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและจำกัดความต้องการพลังงานทั่วโลก โดยเมื่อวันพุธ ทางทำเนียบขาวแถลงว่าจะพิจารณาเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเป็น 25% คิดเป็นมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ด้านกระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์ในวันพฤหัสบดี โดยขู่ที่จะตอบโต้สหรัฐ