ภาวะตลาดน้ำมันราคาน้ำมัน WTI พุ่ง 82 เซนต์ รับคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกเพิ่มขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday August 11, 2018 07:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดดีดตัวแรงกว่า 1% เมื่อคืนนี้ (10 ส.ค.) โดยได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยบดบังความกังวลที่ว่าสถานการณ์ตึงเครียดทางด้านการค้าอาจส่งผลกระทบให้ความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกลดลง ด้านเบเกอร์ ฮิวจ์ เผยแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ย. ปรับตัวขึ้น 82 เซนต์ หรือ 1.2% ปิดที่ 67.63 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ทั้งสัปดาห์ร่วงลง 1.3%

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 74 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 72.81 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่ลดลง 0.6% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นหลังจากที่ร่วงลงมาสองวันติดต่อกัน โดยนักลงทุนขานรับรายงานประจำเดือนจากสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ซึ่งได้ปรับเพิ่มคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกในปี 2562 ขึ้นอีก 110,000 บาร์เรล/วัน เป็น 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน

รายงานของ IEA ยังระบุว่า อุปทานน้ำมันทั่วโลกเพิ่มขึ้น 300,000 บาร์เรล/วันในเดือนก.ค. สู่ระดับ 99.4 ล้านบาร์เรล/วัน โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากรัสเซียและกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก)

IEA คาดการณ์ด้วยว่า การผลิตน้ำมันของบรรดาประเทศผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกจะเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2561 และ 1.85 ล้านบาร์เรล/วันในปีหน้า

โดยถึงแม้รายงานจะคาดการณ์ถึงอุปทานที่เพิ่มขึ้น แต่นักวิเคราะห์มองว่า รายงานดังกล่าวเป็นบวกต่อตลาด เพราะมีการปรับเพิ่มอุปสงค์

ทั้งนี้ IEA มองว่า ตลาดน้ำมันที่ชะลอความร้อนแรงลงในระยะนี้นั้น จะดำเนินต่อไปไม่นาน พร้อมทั้งระบุว่า ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกอาจเผชิญภาวะตึงตัว จากการประกาศมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ รวมไปถึงปัญหาด้านการผลิตในพื้นที่อื่นๆของโลก

รัฐบาลสหรัฐประกาศมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านรอบใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดกั้นรัฐบาลอิหร่านในการเข้าซื้อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ, การทำธุรกรรมในสกุลริอัลในบัญชีธนาคารระหว่างประเทศ หรือในการออกพันธบัตร การทำธุรกรรมซื้อขายทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ รวมถึงถ่านหิน อลูมินัม และเหล็กสำหรับการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และการผลิตรถยนต์ ซึ่งมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปก่อนหน้านี้ หลังจากที่อิหร่านบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับมหาอำนาจทั้ง 6 ชาติในปี 2558 เพื่อแลกเปลี่ยนกับการยกเลิกโครงการนิวเคลียร์

โดยมาตรการที่สหรัฐใช้คว่ำบาตรอิหร่านในครั้งนี้ ถือเป็นมาตรการรอบแรก ก่อนที่สหรัฐจะออกมาตรการคว่ำบาตรรอบ 2 ในเดือนพ.ย. ซึ่งจะพุ่งเป้าไปยังการทำธุรกรรมของธนาคารกลาง การส่งออกน้ำมัน และการขนส่งสินค้าทางเรือของอิหร่าน

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านจะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันในตลาดลดลงราว 600,000-1,500,000 บาร์เรล

ขณะเดียวกัน ตลาดทั่วโลกยังจับตาสถานการณ์ความเคลื่อนไหวในตุรกี ท่ามกลางวิกฤตค่าเงินลีราที่ดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับในรัสเซีย ที่ค่าเงินรูเบิลร่วงลงเช่นกัน โดยตลาดเริ่มกังวลว่าภาวะผันผวนเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก จากเดิมที่นักลงทุนกังวลกันอยู่แล้วว่าการทำสงครามการค้าระหว่างประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐกับจีนนั้น จะฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน

กระทรวงพาณิชย์ของจีนแถลงว่า จีนจะเรียกเก็บภาษี 25% ต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐวงเงิน 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงน้ำมันดิบและรถยนต์ โดยการดำเนินการดังกล่าวของจีนมีขึ้นเพื่อตอบโต้สหรัฐซึ่งได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติมในอัตรา 25% วงเงิน 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ส.ค.

ด้านเบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐ เปิดเผยในวันศุกร์ว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐที่มีการใช้งาน มีจำนวนเพิ่มขึ้น 10 แท่น สู่ระดับ 869 แท่นในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2558

นอกจากนี้ การเพิ่มจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน 10 แท่นในสัปดาห์นี้ ถือเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. จากการที่บริษัทน้ำมันมีแผนใช้จ่ายมากขึ้นในการสำรวจและผลิตน้ำมัน เนื่องจากคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะดีดตัวสูงขึ้นในปีนี้มากกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ