สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ยังคงร่วงลงในวันนี้ โดยล่าสุดดิ่งลงกว่า 2% หลุดระดับ 66 ดอลลาร์ ขณะที่นักลงทุนวิตกว่าวิกฤตค่าเงินตุรกี และการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและประเทศคู่ค้า จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันในตลาด แม้ว่าการที่สหรัฐทำการคว่ำบาตรอิหร่านได้บ่งชี้ถึงภาวะน้ำมันตึงตัว
ณ เวลา 23.37 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนก.ย. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ลดลง 1.79 ดอลลาร์ หรือ 2.65% สู่ระดับ 65.84 ดอลลาร์/บาร์เรล
ทั้งนี้ วิกฤตการเงินในตุรกีได้สร้างความเสี่ยงที่จะลุกลามไปยังตลาดเกิดใหม่ ส่งผลให้สกุลเงินแรนด์ของแอฟริกาใต้, รูปีของอินเดีย และรูเปียห์ของอินโดนีเซีย ต่างอ่อนค่าลงอย่างมาก ขณะที่ตลาดหุ้นทรุดตัวลงเช่นกัน จากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และแนวโน้มอุปสงค์น้ำมัน
ถึงแม้ตุรกีเป็นประเทศที่บริโภคน้ำมันไม่มากนัก โดยอยู่ในระดับไม่เกิน 1 ล้านบาร์เรล/วัน แต่นักวิเคราะห์เตือนว่าผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในตุรกีอาจมีความรุนแรงมากกว่าคาด เนื่องจากอาจลุกลามไปยังตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งธนาคารในยุโรป
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการดิ่งลงของค่าเงินลีราต่อธนาคาร BBVA ของสเปน, ธนาคาร UniCredit ของอิตาลี และธนาคาร BNP Paribas ของฝรั่งเศส
การดิ่งลงของค่าเงินลีราจะส่งผลกระทบต่อธนาคารยุโรปที่ได้เข้าไปทำธุรกิจในตุรกี โดย ECB วิตกว่าการทรุดตัวของค่าเงินจะทำให้ภาคธุรกิจของตุรกีผิดนัดชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ เนื่องจากจะทำให้ลูกหนี้ในตุรกีต้องชำระหนี้ในมูลค่าของลีราที่สูงขึ้น โดยหนี้สกุลเงินต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 40% ของสินทรัพย์ในภาคธนาคารของตุรกี
ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ระบุว่า ภาคธนาคารของสเปนได้ปล่อยสินเชื่อแก่ตุรกีคิดเป็นวงเงิน 8.33 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารฝรั่งเศสปล่อยสินเชื่อ 3.84 หมื่นล้านดอลลาร์ และธนาคารอิตาลีปล่อยสินเชื่อ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ประเทศในยูโรโซนมีการเกินดุลการค้ากับตุรกี โดยได้ส่งออกคิดเป็นมูลค่า 6.3 หมื่นล้านยูโรในปีที่แล้ว ดังนั้น หากตุรกีประสบภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย ก็จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของยูโรโซนเช่นกัน
ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังจับตาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
กระทรวงพาณิชย์ของจีนประกาศเรียกเก็บภาษี 25% ต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐวงเงิน 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงน้ำมันดิบและรถยนต์ เพื่อตอบโต้สหรัฐซึ่งได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติมในอัตรา 25% วงเงิน 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ส.ค.
ก่อนหน้านี้ คณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนล็อตแรกในอัตรา 25% วงเงิน 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา และหลังจากนั้นไม่นาน จีนก็ได้ออกมาตรการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐในอัตราและวงเงินที่เท่ากัน
ทั้งนี้ สหรัฐออกมาตรการเรียกเก็บภาษี 25% ต่อสินค้านำเข้าจากจีนทั้ง 2 ล็อต คิดเป็นวงเงินรวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจีนก็ได้ตอบโต้ในอัตราภาษีและวงเงินที่เท่ากัน
เมื่อช่วงกลางเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานตัวแทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้ประกาศรายการสินค้าจำนวน 1,100 รายการของจีนที่ต้องถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 25% คิดเป็นวงเงินรวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยสินค้าล็อตแรกจำนวน 818 รายการ วงเงิน 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ มีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ส่วนการเรียกเก็บภาษีสินค้าล็อตที่ 2 วงเงิน 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ส.ค.