สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ปรับตัวขึ้นในวันนี้ จากคาดการณ์ภาวะน้ำมันตึงตัวในตลาด หลังจากที่สหรัฐใช้มาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน
ตลาดการเงิน และตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์สหรัฐปิดทำการในวันนี้ เนื่องในวันแรงงานสหรัฐ แต่ราคาสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ที่ซื้อขายผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ขยับขึ้นเล็กน้อย โดย ณ เวลา 22.41 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 25 เซนต์ หรือ 0.36% สู่ระดับ 70.05 ดอลลาร์/บาร์เรล
ราคาน้ำมันได้ปัจจัยบวกจากการที่อิหร่านลดการส่งออกน้ำมัน ขณะที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ
ทั้งนี้ การส่งออกน้ำมันดิบและคอนเดนเสทของอิหร่านมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่าระดับ 70 ล้านบาร์เรลในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีที่แล้ว ก่อนถึงวันที่ 4 พ.ย.ซึ่งสหรัฐเตรียมออกมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่ออิหร่าน
การส่งออกน้ำมันของอิหร่านเริ่มได้รับผลกระทบ จากการที่ผู้ซื้อน้ำมันพากันลดคำสั่งซื้อน้ำมันจากอิหร่านแล้ว ขณะที่ใกล้ถึงกำหนดเวลาที่สหรัฐจะทำการคว่ำบาตรน้ำมันจากอิหร่าน โดยสหรัฐเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ระงับการซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านโดยสิ้นเชิงภายในวันที่ 4 พ.ย. มิฉะนั้นจะถูกสหรัฐทำการคว่ำบาตร ซึ่งวันที่ 4 พ.ย.ถือเป็นวันครบกำหนด 180 วันนับจากวันที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านในเดือนพ.ค. และจะทำให้ปธน.ทรัมป์สามารถออกคำสั่งคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ามาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน จะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันในตลาดลดลงราว 600,000-1,500,000 บาร์เรล
นายโมฮัมเหม็ด บิน ฮามาด อัล รัมฮี รมว.น้ำมันและก๊าซของโอมาน กล่าวว่า ราคาน้ำมันไม่มีแนวโน้มที่จะออกจากช่วงกลางของกรอบ 70 ดอลลาร์ในปีนี้ และเขามองว่าราคาน้ำมันในปัจจุบันมีความเหมาะสม
นายบิน ฮามาด อัล รัมฮีกล่าวว่า ราคาน้ำมันในช่วง 70-80 ดอลลาร์จะช่วยให้ผู้ผลิตน้ำมันสามารถทำการลงทุนต่อไป ดีกว่าในช่วงที่ราคาดิ่งลงแตะ 30-40 ดอลลาร์เมื่อหลายปีก่อน
ต่อข้อถามที่ว่า เขาเห็นพ้องกับนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ราคาน้ำมันอาจจะพุ่งแตะ 90 ดอลลาร์/บาร์เรลหรือไม่ นายบิน ฮามาด อัล รัมฮีกล่าวว่า "ผมไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น"
ทางด้านชีคห์ โมฮัมเหม็ด บิน คาลิฟา อัล คาลิฟา รมว.น้ำมันของบาห์เรน กล่าวว่า ผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางกำลังมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อุปสงค์น้ำมันจะลดลงในจีน มากกว่าที่ปริมาณการส่งออกน้ำมันของอิหร่านจะลดลงอันเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ
ทั้งนี้ บิน คาลิฟา อัล คาลิฟา กล่าวว่า ความต้องการใช้น้ำมันของจีนลดลงจากความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐ
นอกจากนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันตลาดน้ำมัน
จีนได้เพิ่มการนำเข้าน้ำมันเล็กน้อยในเดือนก.ค. หลังจากที่ปรับลดลงติดต่อกัน 2 เดือน
อย่างไรก็ดี การนำเข้าน้ำมันของจีนยังคงอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดในปีนี้ เนื่องจากกลุ่มโรงกลั่นอิสระรายย่อยของจีนมีความต้องการน้ำมันลดลง