ภาวะตลาดน้ำมันWTI ปิดดีดขึ้น 40 เซนต์ คาดคว่ำบาตรอิหร่านทำน้ำมันตึงตัว-กังวลเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday September 15, 2018 06:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (14 ก.ย.) จากการคาดการณ์ที่ว่ามาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐต่ออิหร่านจะส่งผลให้ภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัว หลังจากที่สหรัฐได้กดดันให้ประเทศต่างๆ ปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐต่อการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน นอกจากนี้ ตลาดยังคงจับตาผลกระทบของพายุเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์ที่อาจมีต่อตลาดพลังงาน รวมไปถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและลามไปถึงความต้องการใช้น้ำมัน

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. ปรับตัวขึ้น 40 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 68.99 ดอลลาร์/บาร์เรลในวันศุกร์ และเพิ่มขึ้น 1.8% ในรอบสัปดาห์

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 9 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 78.09 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่ทั้งสัปดาห์เพิ่มขึ้น 1.6%

ภาวะการซื้อขายในตลาดน้ำมันวันศุกร์ ได้แรงหนุนจากการคาดการณ์เกี่ยวกับภาวะน้ำมันตึงตัวในตลาด จากการที่สหรัฐคว่ำบาตรอิหร่าน

ทั้งนี้ การส่งออกน้ำมันดิบและคอนเดนเสทของอิหร่านลดลงต่ำกว่าระดับ 70 ล้านบาร์เรลในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีที่แล้ว ก่อนถึงวันที่ 4 พ.ย.ซึ่งสหรัฐเตรียมออกมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่ออิหร่าน

การส่งออกน้ำมันของอิหร่านเริ่มได้รับผลกระทบ จากการที่ผู้ซื้อน้ำมันพากันลดคำสั่งซื้อน้ำมันจากอิหร่านแล้ว ขณะที่ใกล้ถึงกำหนดเวลาที่สหรัฐจะทำการคว่ำบาตรน้ำมันจากอิหร่าน โดยสหรัฐเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ระงับการซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านโดยสิ้นเชิงภายในวันที่ 4 พ.ย. มิฉะนั้นจะถูกสหรัฐทำการคว่ำบาตร ซึ่งวันที่ 4 พ.ย.ถือเป็นวันครบกำหนด 180 วันนับจากวันที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านในเดือนพ.ค. และจะทำให้ปธน.ทรัมป์สามารถออกคำสั่งคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ามาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน จะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันในตลาดลดลงราว 600,000-1,500,000 บาร์เรล

ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์เชื่อว่า ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐที่มีต่อการส่งออกน้ำมันของอิหร่านนั้น จะยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมันต่อไป

นอกจากนี้ ภาวะการซื้อขายในตลาดน้ำมันยังได้แรงหนุนหลังจากมีรายงานว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยังคงมีความตั้งใจที่จะเดินหน้าเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ ถีงแม้นายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ ได้ส่งจดหมายไปยังเจ้าหน้าที่ของจีน เพื่อเชิญให้เข้าร่วมการเจรจาการค้าครั้งใหม่ และจีนได้ตอบรับคำเชิญแล้วก็ตาม

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ปธน.ทรัมป์ได้เรียกประชุมที่ปรึกษาทางการค้า ซึ่งรวมถึงนายมนูชิน, นายวิลเบอร์ รอสส์ รมว.พาณิชย์สหรัฐ และนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ

รายงานระบุว่า ปธน.ทรัมป์แจ้งให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าร่วมการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดี เดินหน้าเรียกเก็บภาษี 2 แสนล้านดอลลาร์จากจีน แม้อีกด้านหนึ่ง สหรัฐจะยังคงใช้ความพยายามที่จะเจรจาแก้ไขข้อพิพาททางการค้ากับจีน

ขณะนี้ได้ผ่านพ้นกำหนดเส้นตายในวันที่ 6 ก.ย.สำหรับการทำประชาพิจารณ์จากภาคส่วนต่างๆของสหรัฐต่อมาตรการเรียกเก็บภาษี 2 แสนล้านดอลลาร์จากจีน แต่ปธน.ทรัมป์ก็ยังคงไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการสำหรับการเรียกเก็บภาษีดังกล่าว

นอกจากนี้ ปธน.ทรัมป์ยังขู่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบใหม่วงเงิน 2.67 แสนล้านดอลลาร์ นอกเหนือจากที่มีแผนเรียกเก็บภาษีสินค้าจีนวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ก่อนหน้านี้

ข้อพิพาทการค้าสหรัฐ-จีนส่งผลให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจทั่วโลกอาจจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย และอาจทำให้อุปสงค์น้ำมันลดลง โดยจีนเป็นประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อันดับสองของโลก

ขณะเดียวกัน ความกังวลเกี่ยวกับพายุเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์เป็นปัจจัยบวกต่อตลาดน้ำมันเช่นกัน ศูนย์เฮอร์ริเคนแห่งชาติของสหรัฐ (NHC) รายงานว่า พายุเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์พัดขึ้นฝั่งที่แถบชายฝั่งรัฐนอร์ทแคโรไลนาและเซาท์แคโรไลนา โดยถึงแม้พายุลูกนี้ได้อ่อนกำลังสู่ระดับ 1 แต่ก็ยังคงอันตราย เพราะจะทำให้เกิดน้ำท่วมหนัก ลมแรง รวมทั้งก่อให้เกิดสตอร์ม เซิร์จ หรือคลื่นลูกใหญ่บริเวณชายฝั่งของรัฐนอร์ทและเซาท์แคโรไลนา ขณะที่มีการประมาณการว่า พายุเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์อาจสร้างความเสียหายแก่ที่ดินและทรัพย์สินเป็นมูลค่า 3-5 พันล้านดอลลาร์

รายงานระบุว่า พายุลูกนี้อาจส่งผลกระทบต่อการขนส่งน้ำมันผ่านท่อส่งน้ำมันหลักในภูมิภาค โดยภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือพึ่งพาการส่งน้ำมันผ่านท่อส่ง Colonial Pipeline และ Plantation Pipeline ซึ่งทอดตัวผ่านรัฐนอร์ทและเซาท์แคโรไลนา

ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยเมื่อวันก่อนว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลงมากกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว

EIA เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 5.3 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าลดลงเพียง 800,000 บาร์เรล

ส่วนสถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) เปิดเผยก่อนหน้านั้นว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 8.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สู่ระดับ 395.9 ล้านบาร์เรล

ด้านเบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐ เปิดเผยในวันศุกร์ว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐที่มีการใช้งาน มีจำนวนเพิ่มขึ้น 7 แท่น สู่ระดับ 867 แท่นในสัปดาห์นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ