สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (15 ต.ค.) โดยได้ปัจจัยหนุนจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและซาอุดีอาระเบีย จากกรณีการหายตัวไปอย่างลึกลับของนักข่าวชาวซาอุฯ อย่างไรก็ตาม สัญญาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันในระหว่างวัน จากรายงานของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ซึ่งระบุว่า อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ย. เพิ่มขึ้น 44 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 71.78 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 35 เซนต์ หรือ 0.4% ปิดที่ 80.78 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและซาอุดีอาระเบีย จากกรณีการหายตัวไปอย่างลึกลับของนักข่าวชาวซาอุฯ โดยปธน.ทรัมป์ขู่ลงโทษอย่างรุนแรงต่อซาอุฯ หากพบว่าอยู่เบื้องหลังการหายตัวของนักข่าวรายนี้ ด้านซาอุฯ ลั่นพร้อมตอบโต้รุนแรงกว่าหากถูกคว่ำบาตร
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐให้สัมภาษณ์ในรายการ "60 นาที" ทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส เกี่ยวกับกรณีที่นายจามาล คาช็อกกี ผู้สื่อข่าวชาวซาอุดีอาระเบียหายตัวอย่างลึกลับหลังเข้าไปติดต่อธุระที่สถานกงสุลซาอุดีอาระเบียในนครอิสตันบูล เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้นำสหรัฐประกาศว่า สหรัฐจะใช้มาตรการลงโทษสถานหนัก หากผลการสืบสวนพบว่าซาอุดีอาระเบียมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้ไม่ว่าจะในทางใดก็ตาม
ด้านซาอุดีอาระเบียลั่นพร้อมตอบโต้สหรัฐด้วยมาตรการที่รุนแรงกว่า พร้อมย้ำเตือนว่า ซาอุฯ ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจน้ำมันนั้น มีบทบาทสำคัญและทรงประสิทธิภาพในเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลซาอุฯ อยู่เบื้องหลังการสังหารนายคาช็อคกี ซึ่งได้หายสาบสูญหลังเข้าไปติดต่อขอรับเอกสารเตรียมแต่งงานกับคู่หมั้นชาวตุรกี ในสถานกงสุลซาอุฯ ประจำอิสตันบูลเมื่อวันที่ 2 ต.ค. แต่ไม่เคยมีใครเห็นเขาออกมาจากสถานกงสุลอีกเลย โดยนักข่าวรายนี้มักวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย และเขาได้หนีไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศเมื่อปีที่แล้วเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนจับกุม
บทบรรณาธิการของสถานีอัลอาระบียาเตือนว่า ราคาน้ำมันอาจพุ่งขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์, 200 ดอลลาร์ หรืออาจมากกว่านั้น หากซาอุดีอาระเบียถูกคว่ำบาตร
อย่างไรก็ดี ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความต้องการน้ำมันที่ลดลงได้สกัดแรงบวกของสัญญาน้ำมันดิบ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ออกรายงานระบุว่า อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง อันเนื่องมาจากผลกระทบของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน สอดคล้องกับกลุ่มประเทศส่งออกน้ำมัน หรือโอเปก ที่ได้ลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปีนี้และปีหน้านี้ ขณะที่การผลิตของกลุ่มโอเปกและรัสเซียปรับตัวขึ้น