สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI พลิกปรับตัวขึ้นในวันนี้ หลังการเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว
ณ เวลา 21.48 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ย. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX บวก 22 เซนต์ สู่ระดับ 66.40 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากร่วงลงแตะระดับ 65.33 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน
ราคาน้ำมันยังคงร่วงลงมากกว่า 10 ดอลลาร์เมื่อเทียบกับระดับสูงสุดในรอบ 4 ปีที่ทำไว้เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ส่งผลให้เดือนนี้เป็นเดือนที่ราคาน้ำมันปรับตัวย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2559
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้น 3.2 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.1 ล้านบาร์เรล
สำหรับสต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคุชชิ่ง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมัน เพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรล
EIA ยังเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 3.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว
ส่วนสต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 4.1 ล้านบาร์เรล
ตลาดจับตาภาวะน้ำมันตึงตัวที่อาจเกิดจากการที่สหรัฐคว่ำบาตรอิหร่าน โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เตรียมคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่านในวันที่ 4 พ.ย.
ทั้งนี้ สหรัฐเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ระงับการซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านโดยสิ้นเชิงภายในวันที่ 4 พ.ย. มิฉะนั้นจะถูกสหรัฐทำการคว่ำบาตร ซึ่งวันที่ 4 พ.ย.ถือเป็นวันครบกำหนด 180 วันนับจากวันที่ปธน.ทรัมป์ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านในเดือนพ.ค. และจะทำให้เขาสามารถออกคำสั่งคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ามาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน จะส่งผลให้ปริมาณน้ำมันในตลาดลดลงราว 500,000-2,000,000 บาร์เรล
อย่างไรก็ดี อินเดีย, จีน และตุรกี ซึ่งเป็นลูกค้าน้ำมันรายใหญ่ของอิหร่าน ต่างก็ปฏิเสธข้อเรียกร้องของสหรัฐในการยุติการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน โดยระบุว่าปริมาณน้ำมันในตลาดโลกมีไม่เพียงพอที่จะชดเชยน้ำมันจากอิหร่าน
ขณะเดียวกัน รัสเซีย สหรัฐ และซาอุดีอาระเบีย เพิ่มการผลิตน้ำมันแตะระดับ 33 ล้านบาร์เรล/วันเป็นครั้งแรกในเดือนก.ย. โดยเพิ่มขึ้น 10 ล้านบาร์เรล/วันนับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นทศวรรษนี้ และบ่งชี้ว่าการผลิตน้ำมันจากทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวสามารถรองรับอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกได้ถึง 1 ใน 3