สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดิ่งลงกว่า 1% หลุดระดับ 63 ดอลลาร์ในวันนี้ หลังจากที่สหรัฐประกาศผ่อนผันให้ 8 ประเทศยังคงสามารถนำเข้าน้ำมันอิหร่านหลังจากวันที่ 4 พ.ย. ซึ่งจะทำให้ตลาดไม่เผชิญภาวะน้ำมันตึงตัว
ณ เวลา 00.08 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ย. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ดิ่งลง 71 เซนต์ หรือ 1.11% สู่ระดับ 62.98 ดอลลาร์/บาร์เรล
การดิ่งลงของราคาน้ำมันในวันนี้มีแนวโน้มทำให้ตลาดทรุดตัวลงกว่า 6% ในสัปดาห์นี้
แหล่งข่าวจากคณะรัฐมนตรีสหรัฐเปิดเผยว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะอนุญาตให้ 8 ประเทศได้รับการผ่อนผันให้สามารถนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านได้ต่อไป หลังจากที่มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันจันทร์
ก่อนหน้านี้ สหรัฐเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ระงับการซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านโดยสิ้นเชิงภายในวันที่ 4 พ.ย. มิฉะนั้นจะถูกสหรัฐทำการคว่ำบาตร ซึ่งวันที่ 4 พ.ย.ถือเป็นวันครบกำหนด 180 วันนับจากวันที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านในเดือนพ.ค. และจะทำให้เขาสามารถออกคำสั่งคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่
8 ประเทศที่ได้รับการผ่อนผันดังกล่าวจะสามารถทยอยลดการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน หลังจากวันที่ 4 พ.ย.
นายไมค์ ปอมเปโอ รมว.ต่างประเทศสหรัฐ และนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ ปฏิเสธที่จะเปิดเผยรายชื่อประเทศทั้ง 8
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดียอยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับการผ่อนปรน ขณะที่จีนกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจาเงื่อนไขกับสหรัฐ
นายปอมเปโอยืนยันว่า สหภาพยุโรปไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่จะได้รับการผ่อนผันดังกล่าว
ขณะเดียวกัน นักลงทุนกังวลต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำมันในตลาด ขณะที่รัสเซียเพิ่มกำลังการผลิตสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงหลังยุคโซเวียตรัสเซีย, สหรัฐเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบสูงกว่า 11 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เพิ่มการผลิตน้ำมันในเดือนต.ค.มากกว่าปริมาณน้ำมันที่ขาดหายไปจากอิหร่าน
ผลการสำรวจพบว่า โอเปกเพิ่มการผลิตน้ำมันในเดือนที่แล้วสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2559 นำโดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และลิเบีย
ทางด้านสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังถูกกระทบจากความวิตกเกี่ยวกับสงครามการค้า ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และฉุดความต้องการใช้น้ำมัน
ทั้งนี้ ภาคการผลิตของจีนมีการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบกว่า 2 ปีในเดือนต.ค. จากการที่อุปสงค์ทั้งภายในและต่างประเทศชะลอตัวลง ซึ่งเป็นผลจากการทำสงครามการค้ากับสหรัฐ