สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI พลิกร่วงลงกว่า 1% หลุดระดับ 62 ดอลลาร์ หลังสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้นมากเกินคาดในสัปดาห์ที่แล้ว
ราคาน้ำมัน WTI พุ่งขึ้นเกือบ 1% ในช่วงแรก ขานรับข่าวที่ว่า รัสเซีย และซาอุดึอาระเบียกำลังหารือกันเกี่ยวกับการลดกำลังการผลิตน้ำมันในปีหน้า
ณ เวลา 23.16 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ย. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ดิ่งลง 76 เซนต์ หรือ 1.22% สู่ระดับ 61.45 ดอลลาร์/บาร์เรล
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้น 5.8 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.4 ล้านบาร์เรล
ส่วนสถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 7.8 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว
สำหรับสต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคุชชิ่ง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมัน เพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรล
EIA ยังเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล
ส่วนสต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 3.5 ล้านบาร์เรล เทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 2.6 ล้านบาร์เรล
นอกจากนี้ EIA ยังระบุว่า สหรัฐผลิตน้ำมัน 11.6 ล้านบาร์เรล/วันในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ทางด้านสำนักข่าวทาสส์ของทางการรัสเซียรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวระบุว่า รัสเซีย และซาอุดึอาระเบียกำลังหารือกันเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการลดกำลังการผลิตน้ำมันในปีหน้า
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันยังคงถูกกดดันจากการที่สหรัฐประกาศผ่อนผันให้ 8 ประเทศยังคงสามารถนำเข้าน้ำมันอิหร่านต่อไป
ราคาน้ำมันได้ดิ่งลงมากกว่า 15% นับตั้งแต่แตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปีที่ทำไว้ในช่วงต้นเดือนต.ค.
รัฐบาลสหรัฐประกาศรายชื่อ 8 ประเทศที่ได้รับการผ่อนผันให้ยังคงสามารถนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย อิตาลี กรีซ และตุรกี ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย.
ทั้งนี้ สหรัฐได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน โดยมีผลกับภาคธุรกิจพลังงาน ธนาคาร การต่อเรือ และการขนส่งทางเรือ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะกดดันให้อิหร่านยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ และขีปนาวุธ รวมทั้งยุติการสนับสนุนต่อกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลาง
ก่อนหน้านี้ สหรัฐเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ระงับการซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านโดยสิ้นเชิงภายในวันที่ 4 พ.ย. มิฉะนั้นจะถูกสหรัฐทำการคว่ำบาตร ซึ่งวันที่ 4 พ.ย.ถือเป็นวันครบกำหนด 180 วันนับจากวันที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านในเดือนพ.ค. และจะทำให้เขาสามารถออกคำสั่งคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่
นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเกิดจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และอาจกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน ขณะที่ความอ่อนแอของค่าเงินเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจของหลายประเทศในเอเชีย