สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ร่วงลงกว่า 1% หลุดระดับ 61 ดอลลาร์ในวันนี้ แตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 8 เดือน ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด
ณ เวลา 22.04 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ย. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ลดลง 73 เซนต์ หรือ 1.18% สู่ระดับ 60.94 ดอลลาร์/บาร์เรล
ราคาน้ำมันได้ดิ่งลงมากกว่า 15% นับตั้งแต่แตะระดับสูงสุดในรอบ 4 ปีที่ทำไว้ในช่วงต้นเดือนต.ค.
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้น 5.8 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.4 ล้านบาร์เรล
ส่วนสถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 7.8 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว
นอกจากนี้ EIA ยังระบุว่า สหรัฐผลิตน้ำมัน 11.6 ล้านบาร์เรล/วันในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่ารัสเซีย จนทำให้สหรัฐเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลกขณะนี้ และคาดว่าจะผลิตน้ำมันมากกว่า 12 ล้านบาร์เรล/วันในกลางปีหน้า
ทางด้านรัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย และบราซิลก็ได้ปรับเพิ่มกำลังการผลิตเช่นกัน ขณะที่อิรัก, อาบูดาบี และอินโดนีเซียส่งสัญญาณการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นมากกว่าคาดในปีหน้า
ราคาน้ำมันยังคงถูกกดดันจากการที่สหรัฐประกาศผ่อนผันให้ 8 ประเทศยังคงสามารถนำเข้าน้ำมันอิหร่านต่อไป
รัฐบาลสหรัฐประกาศรายชื่อ 8 ประเทศที่ได้รับการผ่อนผันให้ยังคงสามารถนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย อิตาลี กรีซ และตุรกี ขณะที่มาตรการคว่ำบาตรอิหร่านเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย.
ทั้งนี้ สหรัฐได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน โดยมีผลกับภาคธุรกิจพลังงาน ธนาคาร การต่อเรือ และการขนส่งทางเรือ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะกดดันให้อิหร่านยกเลิกโครงการนิวเคลียร์ และขีปนาวุธ รวมทั้งยุติการสนับสนุนต่อกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลาง
ก่อนหน้านี้ สหรัฐเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ระงับการซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านโดยสิ้นเชิงภายในวันที่ 4 พ.ย. มิฉะนั้นจะถูกสหรัฐทำการคว่ำบาตร ซึ่งวันที่ 4 พ.ย.ถือเป็นวันครบกำหนด 180 วันนับจากวันที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านในเดือนพ.ค. และจะทำให้เขาสามารถออกคำสั่งคว่ำบาตรอิหร่านครั้งใหม่
นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเกิดจากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และอาจกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน ขณะที่ความอ่อนแอของค่าเงินเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจของหลายประเทศในเอเชีย