สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ทรุดตัวอย่างต่อเนื่องในวันนี้ โดยดิ่งลง 7% หลุดระดับ 51 ดอลลาร์ แตะระดับต่ำสุดของปีนี้ โดยมีแนวโน้มทำสถิติร่วงลงมากที่สุดในรอบ 1 เดือนนับตั้งแต่ปลายปี 2557 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด
นักลงทุนจับตากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ซึ่งอาจปรับลดกำลังการผลิต 1.4 ล้านบาร์เรล/วันในการประชุมที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรียในวันที่ 6 ธ.ค.
ณ เวลา 21.17 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนม.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ดิ่งลง 3.43 ดอลลาร์ หรือ 6.28% สู่ระดับ 51.20 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากทรุดตัวลง 7% แตะระดับต่ำกว่า 51 ดอลลาร์ก่อนหน้านี้
ราคาน้ำมันดิ่งลงราว 20% ในเดือนนี้ โดยเป็นการปรับตัวลง 7 สัปดาห์ติดต่อกัน
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้น 4.9 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 446.91 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.ปีที่แล้ว
นอกจากนี้ EIA ยังระบุว่า การผลิตน้ำมันของสหรัฐยังคงอยู่ที่ระดับ 11.7 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ทางด้านสำนักงานพลังงานสากล (IEA) เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกจะอยู่ในระดับสูงกว่าอุปสงค์ในปีหน้า ขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันเพิ่มกำลังการผลิต แต่การบริโภคน้ำมันถูกจำกัดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ IEA ออกรายงานภาวะตลาดน้ำมันโลกประจำเดือนพ.ย. โดย IEA ยังคงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันโลกในปีนี้และปีหน้าที่ระดับ 1.3 ล้านบาร์เรล/วัน และ 1.4 ล้านบาร์เรล/วันตามลำดับ ไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนที่แล้ว แต่ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันในประเทศนอกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
IEA คาดการณ์ว่า สต็อกน้ำมันจะมีการขยายตัว 2 ล้านบาร์เรล/วันในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า
นอกจากนี้ IEA ยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ตัวเลขการผลิตน้ำมันจากประเทศนอกกลุ่มโอเปกสู่ระดับ 2.4 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ และ 1.9 ล้านบาร์เรล/วันในปีหน้า เทียบกับตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.2 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ และ 1.8 ล้านบาร์เรล/วันในปีหน้า
ทั้งนี้ การผลิตน้ำมันของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นอีก 2.1 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ และ 1.3 ล้านบาร์เรล/วันในปีหน้า โดยขณะนี้สหรัฐผลิตน้ำมันได้มากกว่า 11 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
IEA ยังได้ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันของโอเปกลง 300,000 บาร์เรล/วัน สู่ระดับ 31.3 ล้านบาร์เรล/วันในปีหน้า
ขณะเดียวกัน IEA เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันของกลุ่มประเทศ OECD เพิ่มขึ้น 12.1 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนก.ย. สู่ระดับ 2.875 พันล้านบาร์เรล และเพิ่มขึ้น 58.1 ล้านบาร์เรลในไตรมาส 3 หรือในอัตรา 630,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2558
ทางด้านโอเปกได้ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปีหน้า ขณะที่ระบุว่าจะขยายตัวเพียง 1.29 ล้านบาร์เรล/วัน ลดลง 70,000 บาร์เรล/วันจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนที่แล้ว และเป็นการปรับลดตัวเลขคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน
นอกจากนี้ โอเปกคาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำมันจากกลุ่มประเทศนอกโอเปกจะเพิ่มขึ้น 2.23 ล้านบาร์เรล/วันในปีหน้า โดยเพิ่มขึ้น 120,000 บาร์เรล/วันจากตัวเลขคาดการณ์ล่าสุด
บริษัทบริติช ปิโตรเลียม (BP) ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานรายใหญ่ของสหราชอาณาจักร ออกแถลงการณ์ระบุว่า บริษัทสามารถเริ่มผลิตน้ำมันจากโครงการแคลร์ริดจ์ในทะเลเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันที่ต้องใช้เงินลงทุนมากที่สุดในรอบ 20 ปี
ทั้งนี้ BP ระบุว่า โครงการแคลร์ริดจ์ถือเป็นโครงการน้ำมันใหญ่ที่สุดในทะเลเหนือในรอบ 20 ปี โดยใช้เงินลงทุนมากกว่า 4,500 ล้านปอนด์ (5.77 พันล้านดอลลาร์) และมีการว่าจ้างพนักงาน 6,000 ราย รวมทั้งมีการก่อสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันลอยน้ำที่สามารถรองรับคนงานมากถึง 500 คน
BP ค้นพบแหล่งน้ำมันดังกล่าวตั้งแต่ปี 2520 โดยคาดว่ามีน้ำมันมากถึง 7 พันล้านบาร์เรล แต่ชั้นหินที่ซับซ้อนได้เป็นอุปสรรคต่อการขุดเจาะน้ำมันในช่วงแรก
BP คาดว่าจะสามารถผลิตน้ำมันจากแหล่งดังกล่าวสูงสุด 120,000 บาร์เรล/วัน โดยโครงการแคลร์ริดจ์คาดว่าจะมีอายุ 40 ปี
ส่วนในการพัฒนาขั้นที่ 2 นั้น BP จะมีการร่วมลงทุนกับเชลล์, เชฟรอน และโคโนโคฟิลิปส์ โดย BP จะถือหุ้น 45.1% ส่วนบริษัทที่เหลือจะถือหุ้น 28%, 19.4% และ 7.5% ตามลำดับ