สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI พุ่งขึ้นกว่า 2% ทะลุระดับ 52 ดอลลาร์ในวันนี้ โดยดีดตัวขึ้นตามตลาดหุ้น ขานรับความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้ปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ รวมทั้งปัญหาในการผลิตน้ำมันของลิเบีย
ณ เวลา 22.47 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนม.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX เพิ่มขึ้น 1.20 ดอลลาร์ หรือ 2.35% สู่ระดับ 52.15 ดอลลาร์/บาร์เรล
ดัชนีดาวโจนส์พุ่งกว่า 300 จุดในวันนี้ ขานรับความคืบหน้าในการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
ณ เวลา 21.35 น.ตามเวลาไทย ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์อยู่ที่ 24,753.94 จุด เพิ่มขึ้น 330.68 จุด หรือ 1.35%
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทวีตข้อความในวันนี้ ระบุว่า เขาจะมีการประกาศครั้งสำคัญเกี่ยวกับความคืบหน้าในการเจรจาการค้ากับจีน
"เรามีการเจรจาการค้ากับจีนที่ประสบผลสำเร็จอย่างมาก ขอให้เตรียมตัวรอการประกาศครั้งสำคัญ" ข้อความในทวิตเตอร์ระบุ
ปธน.ทรัมป์ทวีตข้อความดังกล่าว หลังจากที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า รัฐบาลจีนกำลังเตรียมดำเนินการปรับลดอัตราภาษีรถยนต์ที่นำเข้าจากสหรัฐ
แหล่งข่าวระบุว่า คณะรัฐมนตรีจีนเตรียมพิจารณาข้อเสนอปรับลดอัตราภาษีรถยนต์ที่นำเข้าจากสหรัฐ ลงสู่ระดับ 15% จากปัจจุบันที่ระดับ 40%
ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงในวันนี้ จะเพิ่มความน่าดึงดูดของสัญญาน้ำมัน โดยทำให้สัญญามีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น
ดอลลาร์อ่อนค่าในช่วงล่างของกรอบ 113 เยน โดยถูกกดดันจากการปรับตัวลงของตลาดหุ้นโตเกียว รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)
ลิเบียเผชิญปัญหาการผลิตน้ำมันครั้งใหญ่ หลังจากที่กลุ่มติดอาวุธได้เข้ายึดบ่อน้ำมันชารารา ซึ่งเป็นบ่อน้ำมันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ
นักวิเคราะห์จากแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะดีดตัวขึ้นในปีหน้า โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล
"ราคาจะปรับตัวผันผวนอย่างมากในอนาคตอันใกล้ แต่เรามีความมั่นใจในราคาน้ำมันในปีหน้า" นายฮูตัน ยาซารี หัวหน้านักวิเคราะห์ของแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริล ลินช์ กล่าว
"เราเชื่อว่าราคาน้ำมันจะกลับไปมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 70 ดอลลาร์/บาร์เรลในปีหน้า และจะดีดตัวขึ้นในไตรมาส 2" นายยาซารีกล่าว
นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ถือว่ามีความเพียงพอ ซึ่งจะสร้างความสมดุลต่อตลาดน้ำมัน และทำให้สต็อกน้ำมันมีเสถียรภาพในปีหน้า
ในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สมาชิก 15 ชาติของโอเปกบรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 800,000 บาร์เรล/วัน ขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกจะปรับลดกำลังการผลิต 400,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งจะทำให้มีการปรับลดกำลังการผลิตรวม 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนม.ค.ปีหน้า