สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ทะยานขึ้นกว่า 3% ใกล้แตะ 48 ดอลลาร์ในวันนี้ หลังจากที่สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3
ณ เวลา 23.16 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนม.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX เพิ่มขึ้น 1.56 ดอลลาร์ หรือ 3.37% สู่ระดับ 47.80 ดอลลาร์/บาร์เรล
EIA เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลง 497,000 บาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว โดยเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 2.4 ล้านบาร์เรล
EIA ยังเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล
ส่วนสต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 4.2 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเพิ่มขึ้น 573,000 บาร์เรล
สต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคูชิง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.09 ล้านบาร์เรล
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันยังคงถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด และความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
สหรัฐมีการผลิตน้ำมัน 11.7 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้สหรัฐเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยแซงหน้ารัสเซีย ซึ่งมีการผลิตน้ำมัน 11.42 ล้านบาร์เรล/วัน โดยเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของรัสเซีย
ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. สมาชิก 15 ชาติของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 800,000 บาร์เรล/วัน ขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกจะปรับลดกำลังการผลิต 400,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งจะทำให้มีการปรับลดกำลังการผลิตรวม 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนม.ค.ปีหน้า
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ระบุว่า การปรับลดกำลังการผลิตดังกล่าว ยังคงไม่เพียงพอที่จะทำให้ตลาดอยู่ในภาวะขาดแคลนน้ำมัน
ทางการจีนได้เปิดเผยตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดค้าปลีกที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ท่ามกลางการทำสงครามการค้ากับสหรัฐ และทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
นอกจากนี้ ตัวเลขการกลั่นน้ำมันของจีนได้ลดลงในเดือนพ.ย. ซึ่งสะท้อนถึงการชะลอตัวของอุปสงค์น้ำมัน