สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือนเมื่อคืนนี้ (20 ธ.ค.) โดยสัญญาน้ำมันดิบร่วงลงตามตลาดหุ้นสหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันยังได้รับแรงกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด และแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันที่อ่อนแอ
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. ร่วงลง 2.29 ดอลลาร์ หรือ 4.8% ปิดที่ 45.88 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. 2560
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.พ. ร่วงลง 2.89 ดอลลาร์ หรือ 5.1% ปิดที่ 54.35 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย. 2560
สัญญาน้ำมันดิ่งลงตามตลาดหุ้น หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 2.25-2.50% ในการประชุมเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ในปีนี้ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีหน้า ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นเพียง 1 ครั้ง หรืออาจจะไม่ปรับขึ้นเลยในปีหน้า
นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันยังได้รับแรงกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด และแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันที่อ่อนแอ อันเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยรายงานระบุว่า สหรัฐมีการผลิตน้ำมัน 11.7 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้สหรัฐเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้ารัสเซียซึ่งมีการผลิตน้ำมัน 11.42 ล้านบาร์เรล/วัน
ทางด้านนักวิเคราะห์กล่าวว่า แม้ที่ประชุม 15 ชาติของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกได้เห็นพ้องที่จะปรับลดกำลังการผลิตรวมกันอยู่ที่ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน แต่การปรับลดกำลังการผลิตดังกล่าว ยังคงไม่เพียงพอที่จะทำให้ตลาดอยู่ในภาวะขาดแคลนน้ำมัน