สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (28 ธ.ค.) แต่ยังคงยืนอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี ขณะที่นักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณชะลอตัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ. บวก 72 เซนต์ หรือ 1.6% ปิดที่ 45.33 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.พ. ขยับขึ้น 4 เซนต์ หรือ 0.1% ปิดที่ 52.20 ดอลลาร์/บาร์เรล
ในสัปดาห์นี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ลดลง 0.6% ขณะที่สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ลดลง 3% ซึ่งถือว่าลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน
แม้ว่าราคาน้ำมันจะปิดในแดนบวกเมื่อวานนี้ แต่ยังคงยืนอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 1 ปี หลังจากเคลื่อนไหวอย่างผันผวนตลอดทั้งสัปดาห์ ซึ่งนักวิเคราะห์กล่าวว่าเป็นผลพวงมาจากตลาดหุ้นนิวยอร์กที่เคลื่อนไหวอย่างผันผวนมากกว่า 1 สัปดาห์แล้ว
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลง 46,000 บาร์เรลในรอบสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 21 ธ.ค. ซึ่งถือว่าน่าผิดหวัง เพราะตลาดคาดการณ์ว่าสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะลดลงมากกว่านี้
EIA ยังเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 3.003 ล้านบาร์เรล ส่วนสต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2,000 บาร์เรล
ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด โดยในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. สมาชิก 15 ชาติของกลุ่มโอเปกได้บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 800,000 บาร์เรล/วัน ขณะที่ผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกจะปรับลดกำลังการผลิต 400,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งจะทำให้มีการปรับลดกำลังการผลิตรวม 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน คิดเป็นสัดส่วนราว 1% ของการบริโภคทั่วโลก
อย่างไรก็ดี ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที โดยจะมีผลในเดือนม.ค.ปีหน้า ขณะที่การผลิตน้ำมันในสหรัฐ รัสเซีย และซาอุดีอาระเบีย ยังคงอยู่ใกล้หรืออยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสหรัฐผลิตน้ำมัน 11.7 ล้านบาร์เรล/วัน ส่งผลให้เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้ารัสเซียซึ่งมีการผลิตน้ำมัน 11.42 ล้านบาร์เรล/วัน