สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดิ่งลงกว่า 2% หลุดระดับ 52 ดอลลาร์ในวันนี้ โดยได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐเพิ่มแท่นขุดเจาะน้ำมัน และนักลงทุนกังวลว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจะฉุดความต้องการใช้น้ำมัน
นอกจากนี้ การที่เกิดเพลิงที่โรงกลั่นน้ำมันแห่งหนึ่งในรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งทำให้มีการปิดหน่วยการกลั่นน้ำมันดิบ ก็ได้กระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันดิบของสหรัฐ
ณ เวลา 22.12 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนมี.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ลดลง 1.09 ดอลลาร์ หรือ 2.07% สู่ระดับ 51.63 ดอลลาร์/บาร์เรล
เบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐ เปิดเผยว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐที่มีการใช้งาน มีจำนวนเพิ่มขึ้น 7 แท่นในสัปดาห์ที่แล้ว สู่ระดับ 854 แท่น
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ขณะที่สหรัฐมีการผลิตน้ำมันสูงเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 11.9 ล้านบาร์เรล/วัน และเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้ารัสเซีย และซาอุดีอาระเบีย
นายอิกอร์ เซชิน ประธานบริษัทรอสเนฟท์ ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ส่งจดหมายไปยังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เพื่อให้ทบทวนการที่รัสเซียเข้าร่วมมือกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ในการปรับลดกำลังการผลิต เนื่องจากเป็นกลยุทธ์ที่มีความเสี่ยง และจะเอื้อประโยชน์ต่อสหรัฐ
ทั้งนี้ สหรัฐไม่ได้เข้าร่วมการปรับลดกำลังการผลิต แต่จะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่จะดีดตัวขึ้นจากการจำกัดการผลิตของโอเปก และประเทศพันธมิตร
นายเซชิน ซึ่งเป็นคนสนิทของปธน.ปูติน ไม่ได้ระบุในจดหมายว่า เขาต้องการให้รัสเซียถอนตัวจากข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตที่ทำไว้กับโอเปกตั้งแต่ปี 2560 หรือไม่
แหล่งข่าวระบุว่า จดหมายดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนต่อเจ้าหน้าที่รัสเซียที่เกี่ยวข้องกับนโยบายพลังงานว่า นายเซชินต้องการให้รัสเซียยุติข้อตกลงดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการรับประกันว่า ปธน.ปูตินจะปฏิบัติตามข้อเสนอของนายเซชิน เนื่องจากปธน.ปูตินมองว่าการทำข้อตกลงกับโอเปกเป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ในความร่วมมือกับซาอุดีอาระเบียในประเด็นที่เกี่ยวกับซีเรีย และประเด็นอื่นๆในระดับโลก
ทั้งนี้ โอเปกและประเทศพันธมิตรจะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันในวันที่ 17-18 เม.ย.ที่กรุงเวียนนา