สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์เมื่อคืนนี้ (11 ก.พ.) โดยได้รับแรงกดดันจากการที่สหรัฐเพิ่มแท่นขุดเจาะน้ำมันและผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น รวมทั้งความกังวลที่ว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลให้ความต้องการน้ำมันลดน้อยลง นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังสร้างแรงกดดันต่อตลาดน้ำมันด้วยเช่นกัน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 31 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 52.41 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค.
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 59 เซนต์ หรือ 1% ปิดที่ 61.51 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปิดตลาดปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ หลังจากเบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐ เปิดเผยว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐที่มีการใช้งาน มีจำนวนเพิ่มขึ้น 7 แท่นในสัปดาห์ที่แล้ว สู่ระดับ 854 แท่น
ทางด้านสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ขณะที่สหรัฐมีการผลิตน้ำมันสูงเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 11.9 ล้านบาร์เรล/วัน และเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้ารัสเซีย และซาอุดีอาระเบีย
นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัวเพียง 1.3% ในปีนี้ และคาดว่าในปีหน้า เศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัวที่ระดับ 1.6% โดยตัวเลขดังกล่าวลดลงจากที่ EC คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะมีการขยายตัว 1.9% ในปีนี้ และ 1.7% ในปีหน้า
นักวิเคราะห์จากกบริษัทโอแลนดากล่าวว่า การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังสร้างแรงกดดันต่อตลาดน้ำมันเช่นกัน โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวขึ้น 0.44% แตะที่ระดับ 97.0608 เมื่อคืนนี้
นักลงทุนจับตาสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ซึ่งมีกำหนดเปิดเผยรายงานแนวโน้มพลังงานระยะสั้น (Short-term Energy Outlook) ในวันนี้ และรายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันพรุ่งนี้