สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ดีดตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนในวันนี้ โดยได้ปัจจัยหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และการที่สหรัฐคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของอิหร่านและเวเนซุเอลา
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้ปัจจัยบวกจากการร่วงลงของสต็อกน้ำมันดิบ และการผลิตน้ำมันของสหรัฐ
ณ เวลา 22.06 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนเม.ย. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX เพิ่มขึ้น 31 เซนต์ หรือ 0.53% สู่ระดับ 58.57 ดอลลาร์/บาร์เรล
โอเปกออกรายงานคาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันอยู่ที่ระดับ 30.46 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ โดยลดลง 130,000 บาร์เรล/วันจากที่มีการคาดการณ์ไว้ในเดือนที่แล้ว และต่ำกว่าระดับการผลิตของโอเปกในปัจจุบัน
"ขณะที่คาดว่าอุปสงค์น้ำมันจะขยายตัวในระดับปานกลางในปีนี้ แต่ก็ยังต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์การผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศนอกโอเปก จึงทำให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันยังคงต้องให้ความร่วมมือกันต่อไปเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะไร้สมดุล และสนับสนุนเสถียรภาพของตลาดน้ำมันในปีนี้" รายงานระบุ
โอเปกยังรายงานว่าการผลิตน้ำมันลดลง 221,000 บาร์เรล/วันในเดือนก.พ. ซึ่งหมายความว่าสมาชิกโอเปกให้ความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตสูงถึง 105%
เมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว โอเปกและกลุ่มประเทศนอกโอเปก นำโดยรัสเซีย เห็นพ้องกันที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1.2 ล้านบาร์เรล/วันเพื่อป้องกันการทรุดตัวของราคาน้ำมัน
แหล่งข่าวระบุว่า โอเปกมีแนวโน้มขยายช่วงเวลาการปรับลดกำลังการผลิตเกินกว่าเดือนมิ.ย.
ทั้งนี้ โอเปกและประเทศพันธมิตรมีกำหนดจัดการประชุมเพื่อพิจารณานโยบายการผลิตน้ำมันในวันที่ 17-18 เม.ย. และ 25-26 มิ.ย.
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐลดลง 3.9 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.3 ล้านบาร์เรล
EIA ยังเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันเบนซินลดลง 4.6 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าลดลง 3.5 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนจากการที่บริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐ เปิดเผยว่า แท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐที่มีการใช้งาน มีจำนวนลดลง 9 แท่น สู่ระดับ 834 แท่นในสัปดาห์ที่แล้ว