สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (2 พ.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบและการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาท่าทีของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ว่าจะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันหรือไม่ หลังจากสหรัฐประกาศยกเลิกคำสั่งผ่อนผันแก่ประเทศที่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 1.79 ดอลลาร์ หรือ 2.8% ปิดที่ 61.81 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเปิดระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ปีนี้
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 1.43 ดอลลาร์ หรือ 2% ปิดที่ 70.75 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงหลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐพุ่งขึ้น 9.9 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 26 เม.ย. ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 1.5 ล้านบาร์เรล ขณะที่สถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 6.8 ล้านบาร์เรลในช่วงสัปดาห์ดังกล่าว
รายงานของ EIA ยังระบุว่า การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 12.3 ล้านบาร์เรล/วัน ในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 26 เม.ย. เพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรล/วัน จากสัปดาห์ก่อนหน้านั้น หรือเพิ่มขึ้นราว 2 ล้านบาร์เรล/วัน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
นอกจากนี้ EIA คาดการณ์ว่า การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐในปี 2562 จะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 12.4 ล้านบาร์เรล/วัน และ 13.1 ล้านบาร์เรล/วันในปี 2563 โดยการผลิตที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากแหล่งเพอร์เมียนในรัฐเทกซัส และนิวเม็กซิโก
นักลงทุนจับตาความเคลื่อนไหวของกลุ่มโอเปกอย่างใกล้ชิด หลังจากสหรัฐประกาศยกเลิกคำสั่งผ่อนผันแก่ประเทศที่นำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน ขณะที่รายงานระบุว่า โรงกลั่นน้ำมันจากหลายประเทศกำลังเรียกร้องให้ซาอุดีอาระเบียเพิ่มการผลิตน้ำมันเพื่อชดเชยกับการผลิตที่ลดลงจากอิหร่าน เนื่องจากถูกสหรัฐคว่ำบาตร ซึ่งหากซาอุดีอาระเบียตอบรับการเพิ่มกำลังการผลิต ก็จะฉุดให้ราคาน้ำมันร่วงลงต่อไปอีก
ทั้งนี้ นักลงทุนรอดูการประชุมของกลุ่มโอเปกในเดือนมิ.ย. โดยที่ประชุมจะทบทวนนโยบายการผลิตน้ำมัน และจะตัดสินใจว่าจะยังคงลดการผลิตน้ำมันต่อไปหรือไม่