สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลง 4% เมื่อคืนนี้ (12 มิ.ย.) หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) รายงานว่า สต็อกน้ำมันดิบพุ่งขึ้นกว่า 2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า ข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมัน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ร่วงลง 2.13 ดอลลาร์ หรือ 4% ปิดที่ 51.14 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนส.ค. ดิ่งลง 2.32 ดอลลาร์ หรือ 3.7% ปิดที่ 59.97 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงหลังจากรายงานของ EIA ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 7 มิ.ย. ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 481,000 บาร์เรล
รายงานของ EIA ยังระบุด้วยว่า สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 800,000 บาร์เรล ตรงข้ามกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 380,000 บาร์เรล ส่วนสต็อกน้ำมันกลั่น ซึ่งรวมถึงฮีตติ้งออยล์และน้ำมันดีเซล ลดลง 1 ล้านบาร์เรล ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 704,000 บาร์เรล
ทางด้านสถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐ เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐเพิ่มขึ้น 4.9 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 7 มิ.ย.
นอกจากนี้ สัญญาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้า โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ว่าหากปธน.สี จิ้นผิง ไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอด G20 ในเดือนนี้ สหรัฐก็จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมต่อสินค้านำเข้าจากจีน
นักลงทุนจับตาการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศพันธมิตรซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงเวียนนาในวันที่ 3-4 ก.ค. โดยเปลี่ยนแปลงจากเดิมในวันที่ 25-26 มิ.ย. เพื่อพิจารณานโยบายการผลิตน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลัง โดยมีแนวโน้มขยายเวลาปรับลดการผลิตจนถึงสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ เมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว โอเปกและผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปก นำโดยรัสเซีย เห็นพ้องกันที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1.2 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงเดือนมิ.ย.ปีนี้ เพื่อป้องกันการทรุดตัวของราคาน้ำมัน