สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2% เมื่อคืนนี้ (3 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่า ภาคการผลิตของสหรัฐและยุโรปที่เข้าสู่ภาวะถดถอย จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกที่ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนส.ค.
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 1.16 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 53.94 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค.ปีนี้
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 40 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 58.26 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบร่วงลงหลังจากผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐลดลงสู่ระดับ 49.1 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.2559 จากระดับ 51.2 ในเดือนก.ค.
ทั้งนี้ ดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตของสหรัฐ ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2559 หลังจากที่มีการขยายตัวติดต่อกัน 36 เดือน
ทางด้านไอเอชเอส มาร์กิตระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซน อยู่ที่ระดับ 47.0 ในเดือนส.ค. ซึ่งแม้ว่าเพิ่มขึ้นจากระดับ 46.5 เมื่อเดือนก.ค. แต่ดัชนียังคงต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของยูโรโซนยังคงเผชิญภาวะหดตัว
ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากผลการสำรวจที่พบว่า การผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ได้เพิ่มขึ้นในเดือนส.ค.เป็นครั้งแรกในปีนี้ ขณะที่อิรักและไนจีเรียเพิ่มการผลิต แม้ว่าการผลิตน้ำมันลดลงในอิหร่าน และซาอุดีอาระเบีย
ทั้งนี้ การผลิตน้ำมันของ 14 ชาติในโอเปกอยู่ที่ระดับ 29.61 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนนี้ โดยเพิ่มขึ้น 80,000 บาร์เรล/วัน เมื่อเทียบกับเดือนก.ค. ซึ่งมีการผลิตน้ำมันต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2557
นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากสหรัฐประกาศเก็บภาษี 15% ต่อสินค้านำเข้าจากจีนในวันที่ 1 ก.ย. ขณะที่จีนก็ได้เรียกเก็บภาษีตอบโต้สหรัฐเช่นกัน
นักลงทุนจับตารายงานสต็อกน้ำมันดิบประจำสัปดาห์ของสหรัฐ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) จะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในวันพรุ่งนี้ เวลาประมาณ 22.00 น.ตามเวลาไทย