สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI พลิกร่วงลงในวันนี้ หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์สั่งปลดนายจอห์น โบลตัน ออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ
ณ เวลา 23.29 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนต.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ลดลง 12 เซนต์ หรือ 0.21% สู่ระดับ 57.73 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค.ในช่วงแรก
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทวีตข้อความในวันนี้ ระบุว่า เขาได้สั่งปลดนายจอห์น โบลตัน ออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ เนื่องจากมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน
"ผมได้แจ้งคุณจอห์น โบลตันเมื่อคืนนี้ว่าเขาไม่ต้องมาทำงานที่ทำเนียบขาวอีกต่อไป โดยที่ผ่านมา ผมไม่เห็นด้วยอย่างมากต่อข้อเสนอมากมายของเขา เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่คนอื่นๆในทำเนียบขาว ดังนั้นผมจึงขอให้คุณจอห์นลาออก และเขาได้ยื่นจดหมายลาออกในเช้าวันนี้"
"ผมขอขอบคุณจอห์นสำหรับการทำงานของเขา และผมจะประกาศชื่อผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติคนใหม่ในสัปดาห์หน้า" ข้อความในทวีตเตอร์ระบุ
นักวิเคราะห์ระบุว่า นายโบลตันถือเป็นที่ปรึกษาสายเหยี่ยว และการที่เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งทำให้สหรัฐมีแนวโน้มลดลงในการโจมตีอิหร่าน ซึ่งจะลดความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลง
ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นกว่า 1% ในช่วงแรก แตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 สัปดาห์ จากความหวังที่ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศพันธมิตร จะยังคงเดินหน้าลดการผลิตน้ำมัน
หากราคาน้ำมันปิดตลาดปรับตัวขึ้นในวันนี้ ก็จะทำสถิติช่วงขาขึ้นที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปลายเดือนก.ค.
เจ้าชายอับดูลาซิส บิน ซาลมาน รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ของซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า ข้อตกลงในการจำกัดการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศโอเปกที่ทำร่วมกับประเทศนอกกลุ่มโอเปก ซึ่งรวมถึงรัสเซีย จะยังคงอยู่ แม้เวลาจะผ่านไป
"ขณะนี้เรามีครอบครัวที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งก็คือ โอเปกพลัส และในไม่ช้า เราจะฉลองการทำข้อตกลงที่ทำให้เรามาอยู่ด้วยกัน จนกว่าความตายจะพรากเราจากกัน" เขากล่าว
ทางด้านรัสเซียแถลงว่า จะไม่มีผลกระทบต่อข้อตกลงของกลุ่มโอเปกพลัส แม้มีการปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีพลังงานของซาอุดีอาระเบีย
ทั้งนี้ โอเปกสามารถบรรลุข้อตกลงกับรัสเซีย และผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกอีก 9 ประเทศในการประชุมเมื่อเดือนก.ค.ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เพื่อขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันออกไปอีก 9 เดือน จนถึงสิ้นเดือนมี.ค.2563 จากเดิมที่มีกำหนดสิ้นสุดในเดือนมิ.ย.ปีนี้ โดยจะปรับลดกำลังการผลิตในอัตราเดิมที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน
นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้แรงหนุนจากการที่จีนเพิ่มการนำเข้านำมันดิบในเดือนส.ค. โดยเพิ่มขึ้น 3% จากเดือนก.ค. และพุ่งขึ้นเกือบ 10% ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว
อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันยังคงถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งจะกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
โกลด์แมน แซคส์ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันในปีนี้ สู่ระดับ 1 ล้านบาร์เรล/วัน ลดลง 100,000 บาร์เรล/วัน แต่ยังคงตัวเลขคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันในปีหน้าที่ระดับ 1.4 ล้านบาร์เรล/วัน
นักลงทุนจับตาการเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐของสถาบันปิโตรเลียมอเมริกา (API) ในวันนี้ และสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ในวันพรุ่งนี้ ขณะที่ผลการสำรวจของนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐจะปรับตัวลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4