ราคาน้ำมันดิ่งเหว ทรุดกว่า 42% เหลือเพียง 10 ดอลลาร์ ต่ำสุดรอบกว่า 30 ปี

ข่าวต่างประเทศ Monday April 20, 2020 22:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดดิ่งลงกว่า 42% หลุดระดับ 11 ดอลลาร์ แตะระดับต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันที่ลดลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากการที่คลังเก็บน้ำมันของสหรัฐกำลังกักเก็บน้ำมันใกล้เต็มความจุ ท่ามกลางภาวะน้ำมันล้นตลาด ขณะที่สต็อกน้ำมันสหรัฐพุ่งขึ้นเป็นประวัติการณ์

ณ เวลา 22.19 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX ดิ่งลง 7.69 ดอลลาร์ หรือ 42.09% สู่ระดับ 10.58 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากแตะ 10.34 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2529

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนพ.ค. ซึ่งจะมีการส่งมอบในวันพรุ่งนี้ ได้รับผลกระทบหนักที่สุด จากการทรุดตัวกว่า 40% ภายในวันเดียว ทำสถิติทรุดหนักสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ที่มีการเริ่มต้นซื้อขายสัญญาน้ำมันในปี 2526

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลงกว่า 9% แตะระดับ 22.70 ดอลลาร์/บาร์เรล และสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ปรับตัวลง 5% สู่ระดับ 28 ดอลลาร์/บาร์เรล

สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ออกรายงานระบุว่า วิกฤตการณ์จากแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบทำให้อุปสงค์น้ำมันลดลง 29 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนเม.ย. แตะระดับต่ำสุดในรอบ 25 ปี ขณะที่ประเทศต่างๆพากันออกมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19

โกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า การที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ถือว่าน้อยเกินไป และยังไม่มากพอที่จะช่วยชดเชยผลกระทบของอุปสงค์น้ำมันที่ทรุดตัวลงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา

โกลด์แมน แซคส์ คาดว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะยังคงร่วงลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เนื่องจากสต็อกน้ำมันยังคงปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าโอเปกพลัสได้บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตเพื่อลดอุปทานน้ำมันในตลาดโลกก็ตาม

ทางด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 3% ในปีนี้ ซึ่งสวนทางการคาดการณ์ในเดือนม.ค.ที่ระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 3.3% ในปีนี้

IMF ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวลง 5.9% ในปีนี้ แต่จีนจะมีการขยายตัว 1.2%

นอกจากนี้ IMF ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัว 7.5% ในปีนี้ ขณะที่อิตาลีและสเปน ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 จะหดตัวลง 9.1% และ 8% ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ