สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (24 เม.ย.) และบวกขึ้นเป็นวันที่ 3 ติดต่อกันแล้ว โดยได้ปัจจัยหนุนจากข้อมูลที่บ่งชี้ว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐลดลง และประเทศในกลุ่มโอเปกพลัสเริ่มปรับลดการผลิตน้ำมัน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 44 เซนต์ หรือ 2.7% ปิดที่ 16.94 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 11 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 21.44 ดอลลาร์/บาร์เรล
แต่ในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ร่วงลง 32.3% และสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ ร่วง 23.7%
เบเกอร์ ฮิวจ์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐ ลดลง 60 แท่น สู่ระดับ 378 แท่นในสัปดาห์นี้ และจำนวนแท่นขุดเจาะที่มีการใช้งานทั้งหมด ลดลง 64 แท่น สู่ระดับ 465 แท่น
ตลาดน้ำมันยังได้แรงหนุนจากการที่ผู้ผลิตน้ำมันบางรายในสหรัฐเริ่มปรับลดการผลิตน้ำมันลงแล้ว และประเทศผู้ผลิตรายอื่นๆ วางแผนที่จะเริ่มปรับลดการผลิตน้ำมันลงก่อนกำหนดเส้นตายในวันที่ 1 พ.ค.ที่จะมีการปรับลดการผลิตน้ำมันทั่วโลกภายใต้ข้อตกลงของกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส โดยคูเวตเปิดเผยว่าจะเร่งปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน เพื่อชดเชยกับอุปสงค์ที่ดิ่งลง
นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากความตึงเครียดในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งอาจเกิดการปะทะกันระหว่างเรือรบของสหรัฐและอิหร่าน หลังจากอิหร่านขู่ว่าจะทำลายเรือรบสหรัฐ หากเป็นภัยคุกคามความมั่นคง
ราคาน้ำมันฟื้นตัวขึ้นหลังจากเผชิญแรงกดดันในช่วงที่ผ่านมาจากภาวะอุปสงค์ที่ชะลอตัว และภาวะอุปทานล้นตลาด
สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ออกรายงานระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบทำให้อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกลดลง 9.3 ล้านบาร์เรล/วันในปีนี้ และอุปสงค์ในเดือนเม.ย.จะลดลง 29 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2538 เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง