ราคาน้ำมัน WTI พุ่งกว่า 14% ทะลุ 23 ดอลลาร์ บวกวันที่ 5 ขานรับโอเปกลดการผลิต

ข่าวต่างประเทศ Tuesday May 5, 2020 20:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI พุ่งขึ้นกว่า 14% ทะลุระดับ 23 ดอลลาร์ในวันนี้ ขานรับการปรับลดกำลังการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน รวมทั้งการฟื้นตัวของอุปสงค์จากการที่ประเทศต่างๆเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

ณ เวลา 20.26 น.ตามเวลาไทย สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ซึ่งมีการซื้อขายที่ตลาด NYMEX เพิ่มขึ้น 2.86 ดอลลาร์ หรือ 14.03% สู่ระดับ 23.25 ดอลลาร์/บาร์เรล

ราคาน้ำมัน WTI ปิดตลาดวานนี้เหนือระดับ 20 ดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่กลางเดือนเม.ย. และปรับตัวขึ้นเป็นวันที่ 5 ติดต่อกันในวันนี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.พ.

นักลงทุนมีความหวังว่าสหรัฐจะเปิดเศรษฐกิจเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังมีความคืบหน้าในการผลิตยาและวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19

ไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยาใหญ่ที่สุดของสหรัฐ เปิดเผยว่า ทางบริษัทได้เริ่มทำการทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในคนในสหรัฐแล้ว

ทั้งนี้ ไฟเซอร์ได้พัฒนาวัคซีนดังกล่าวร่วมกับ BioNTech ซึ่งเป็นบริษัทยาของเยอรมนี โดยผู้เข้าร่วมโครงการทดลองดังกล่าวในสหรัฐจะได้รับการฉีดวัคซีน BNT162 หลังจากที่เริ่มมีการทดลองวัคซีนดังกล่าวในคนในเยอรมนีในเดือนที่แล้ว

ไฟเซอร์คาดการณ์ว่า บริษัทจะสามารถผลิตวัคซีนหลายล้านโดสภายในปลายปีนี้

องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทหลายแห่งทั่วโลกกำลังทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 รวมแล้วกว่า 100 ตัว และมีวัคซีนอย่างน้อย 8 ตัวที่กำลังอยู่ในขั้นทดลองกับมนุษย์

ทางด้านบริษัท Gilead Sciences แถลงว่า ทางบริษัทได้รับข้อมูลที่น่าพึงพอใจในการใช้ยา remdesivir ซึ่งเป็นยาแอนตี้ไวรัสของบริษัท ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19

Gilead ระบุว่า ผลการศึกษาการใช้ยา remdesivir ซึ่งทางบริษัทดำเนินการร่วมกับสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติ มีผลการรักษาเป็นไปตามเป้าหมายในเบื้องต้น

Gilead ยังเปิดเผยว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวนอย่างน้อย 50% ที่ได้รับยา remdesivir เป็นเวลา 5 วัน มีอาการดีขึ้น และผู้ป่วยจำนวนมากกว่า 50% ที่ได้รับยา remdesivir สามารถออกจากโรงพยาบาลภายในเวลา 2 สัปดาห์

นายแอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก เปิดเผยว่า รัฐนิวยอร์กจะเริ่มเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังจากที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยจะมีการเปิดเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป

นอกจากนี้ รัฐอลาสกา, จอร์เจีย, เซาธ์ แคโรไลนา, เทนเนสซี และเท็กซัส ก็ได้เริ่มให้ร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการแก่ลูกค้า

กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส เริ่มปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 9.7 ล้านบาร์เรล/วันตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ขณะที่นอร์เวย์และแคนาดาก็ได้ปรับลดกำลังการผลิตเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ