สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดในแดนบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 6 เมื่อคืนนี้ (21 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการลดลงของสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐ รวมทั้งการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) นอกจากนี้ ตลาดยังได้ปัจจัยบวกจากความหวังที่ว่า อุปสงค์น้ำมันจะฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่รัฐบาลต่างๆพากันผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 43 เซนต์ หรือ 1.3% ปิดที่ 33.92 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2563
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 31 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 36.06 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2563
สัญญาน้ำมันดิบยังคงได้รับปัจจัยบวกจากรายงานของของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ซึ่งระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 5 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 15 พ.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกัน 2 สัปดาห์ และสวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรล
ส่วนสต็อกน้ำมันดิบที่เมืองคูชิ่ง รัฐโอกลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมัน WTI ร่วงลง 5.5 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากรายงานที่ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ได้ปรับลดการส่งออกน้ำมันลง 6 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนพ.ค. รวมทั้งปัจจัยที่ว่า กลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ได้ตกลงกันที่จะลดการผลิตน้ำมันลง 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพ.ค.และมิ.ย.นี้ โดยมีเป้าหมายที่จะจัดการกับปริมาณน้ำมันส่วนเกินที่เกิดจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19
รายงานระบุว่า ซาอุดีอาระเบียประกาศลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีก 1 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนมิ.ย. นอกเหนือจากที่ได้ปรับลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงของกลุ่มโอเปกพลัส ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรทส์และคูเวตประกาศปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม โดยทั้งสองประเทศจะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มอีก 180,000 บาร์เรล/วัน
นักลงทุนคาดว่า ความต้องการใช้น้ำมันจะฟื้นตัวขึ้น หลังจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ เริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อเปิดทางให้ธุรกิจต่างๆกลับมาดำเนินการอีกครั้ง