สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (22 พ.ค.) โดยถูกกดดันจากความวิตกเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน และความขัดแย้งครั้งใหม่ระหว่างสหรัฐ-จีน แม้มีรายงานว่าแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในสหรัฐที่มีการใช้งานมีจำนวนลดลงในสัปดาห์นี้ก็ตาม
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 67 เซนต์ หรือ 2% ปิดที่ 33.25 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 93 เซนต์ หรือ 2.6% ปิดที่ 35.13 ดอลลาร์/บาร์เรล
แต่ในรอบสัปดาห์นี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้น 12.6% และสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ เพิ่มขึ้น 8.1% ซึ่งทั้งสัญญาน้ำมันดิบ WTI และน้ำมันดิบเบรนท์ ต่างก็ปรับตัวขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกันแล้ว
นักลงทุนได้เทขายสัญญาน้ำมันดิบออกมา เนื่องจากวิตกเกี่ยวกับความไม่สงบครั้งใหม่ในฮ่องกง หลังมีข่าวว่า รัฐบาลจีนกำลังพิจารณาใช้กฎหมายความมั่นคงระหว่างประเทศซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการปกครองตนเองของฮ่องกง
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (21 พ.ค) ว่า สหรัฐจะตอบโต้อย่างแข็งกร้าวกับการเคลื่อนไหวดังกล่าวของจีนในฮ่องกง
นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังถูกกดดันจากรายงานของรัฐบาลจีนซึ่งยื่นต่อที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ในวันศุกร์ที่ระบุว่า จีนได้ระงับการกำหนดเป้าหมายการขยายตัวของ GDP ประจำปี 2563 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลจีนไม่ได้กำหนดเป้าหมาย GDP นับตั้งแต่ปี 2533 เมื่อรัฐบาลเริ่มเปิดเผยเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งทำให้นักลงทุนวิตกเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เศรษฐกิจจีนหดตัวลง 6.8% ในไตรมาส 1/2563 เมื่อเทียบรายปี โดยหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการใช้จ่าย
ราคาน้ำมันปรับตัวลง แม้เบเกอร์ ฮิวจ์ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในสหรัฐที่มีการใช้งาน ลดลง 21 แท่นในสัปดาห์นี้ สู่ระดับ 318 แท่น โดยทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลดังกล่าวเมื่อปี 2483 หรือเมื่อ 80 ปีก่อน นอกจากนี้ เบเกอร์ ฮิวจ์ ยังเปิดเผยว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐที่มีการใช้งาน ลดลง 21 แท่น สู่ระดับ 237 แท่นในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการทำสถิติปรับตัวลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 10